กรมสุขภาพจิต “ร่วมสร้างพลังใจ สุขภาพจิตไทยยั่งยืน" สานพลังภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพจิตไทยยั่งยืนทุกกลุ่มวัยในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทำให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้และเป็นที่ยอมรับเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ 

วันที่ 9 สิงหาคม 2566 กรมสุขภาพจิตโดยกองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างเครือข่ายพลเมืองสุขภาพจิตดีภายใต้ระบบสุขภาพปฐมภูมิ “ร่วมสร้างพลังใจ สุขภาพจิตไทยยั่งยืน Better Mental Health Care for all” ให้สามารถเข้าถึงดูแลช่วยเหลือจิตใจได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลช มหานาค กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2566 มีผู้เข้าประชุมเครือข่ายทั้งในและนอกสาธารณสุข ณ ที่ประชุมกว่า 500 คนและร่วมประชุมผ่านระบบออน์ไลน์กว่า 1,000 คน 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์และวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งทุกภาคส่วนต่างก็ช่วยกันเร่งแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ประชาชนไทยสามารถดูแลตนเองและคนรอบข้างได้ สามารถเข้าถึงระบบบริการและสวัสดิการที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเปราะบางทางสังคม เช่น กลุ่มที่ต้องเผชิญเหตุวิกฤตโดยตรง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้างติดเตียง กลุ่มผู้พิการ ผู้ที่เจ็บป่วยทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยทางจิตเดิมที่อยู่ในชุมชน

ซึ่งในสภาวะเช่นนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตเช่นการมีภาวะซึมเศร้าหรือตัดสินใจฆ่าตัวตาย ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นความสูญเสียและนำมาซึ่งความโศกเศร้าต่อครอบครัวและคนในสังคม จำเป็นต้องอาศัยกลไกของระบบสุขภาพปฐมภูมิผ่านกลยุทธ์ในการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตามบริบทและสภาพปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มิอาจปฏิเสธได้ ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการทำงานแล้วนั้น แบ่งปันร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานสุขภาพจิตร่วมกัน ต่อยอดความรู้และประยุกต์ใช้ดูแลสุขภาพจิตของตนเองต่อไป

ระบบการดูแลสุขภาพสุขภาพกายและจิตของประชาชนในท้องถิ่น

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่ออีกว่า ระบบสุขภาพปฐมภูมิ คือ ระบบการดูแลสุขภาพสุขภาพกายและจิตของประชาชนในท้องถิ่น ระดับหมู่บ้านตำบล และอำเภอ ซึ่งถือเป็นฐานรากสำคัญในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อกันในแต่ละระดับ ได้แก่ อสม. (อาสาสมัครหมู่บ้าน) เจ้าหน้าที่รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) และ เจ้าหน้าที่รพช.(โรงพยาบลชุมชนหรืออำเภอ) ที่เรียกสั้นๆ ว่า  ระบบบริการ 3 หมอ นั้นเอง ดังนั้นหากระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้ด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะกลุ่มป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวช เครือข่ายภายใต้ระบบสุขภาพปฐมภูมิจะมีส่วนสำคัญในการช่วยค้นหาและให้การดูแลผู้ป่วยในชุมชน

ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการและการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ตลอดจนติดตามดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ลดปัญหาเรื่องการขาดยา และอาการกำเริบ รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ เป็นที่ยอมรับและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ จากการขับเคลื่อนการดูแลจิตจิตใจผ่านเครือข่ายพลเมืองสุขภาพจิตดี มีการขับเคลื่อนผ่านคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ระดับจังหวัด ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่มีอำเภอภายใต้กลไก พชอ./พชข. ร่วมดูแลจิตใจประชาชนตามบริบทของแต่ละพื้นที่มากถึง 864 อำเภอ และ 50 เขตใน กทม. คิดเป็นร้อยละ 98.59  มีคนที่ได้รับการดูแลทางสังคมจิตใจภายใต้กลไก คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)/คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) จำนวน 51,676 คน

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสฆ่าตัวตาย ได้รับการเฝ้าระวังและดูแลช่วยเหลือจากทีม 3 หมอ มากกว่า 3,244 คน ขณะเดียวกันยังมีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,168 แห่ง และความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ/ราชมงคลที่ร่วมขับเคลื่อนระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษา 47 แห่ง (ร้อยละ 100) ซึ่งมีนักศึกษาที่ได้รับการดูแลทางสังคมจิตใจแล้วทั้งสิ้น 47,176 คน

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ไม่ได้เน้นย้ำดูแลเฉพาะผู้ป่วย แต่เราดูแลเรื่องสุขภาพจิตทั้งคนที่สุขภาพจิตดีอยู่แล้วเราก็ส่งเสริมให้สุขภาพจิตดีไปเรื่อยๆ คนที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิตใดๆเราจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและคนที่เริ่มเจ็บป่วยเราต้องรับรู้ให้เร็วและช่วยเหลือรักษาให้เร็วและดีที่สุด และสำหรับคนที่ป่วยจิตเวชแบบเรื้อรังเรามีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูในระยะยาว ทั้งกระบวนการรักษาทางด้านจิตเวช และสมาชิกในครอบครัวหรือชุมชนของผู้ป่วยเอง ฉะนั้นการสร้างเครือข่ายครั้งนี้จึงครอบคลุมการส่งเสริมป้องกันรักษาและฟื้นฟู ทั้งการคุ้มครองสุขภาพจิตของคนไทยมาตรฐานต่างๆในการบริการและดูแล การทำให้คนไทยเข้าถึงสิทธิและการปกป้องในมิติของสุขภาพจิตถูกขับเคลื่อนในโครงการนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังนำระบบปฐมภูมิเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากชุมชนถือเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ซึ่งเป็นการดูแลรักษาขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขอนามัยต่างๆ ที่นำทีมโดย รพ.สต. อสม. เป็นต้น แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปคำว่า ปฐมภูมิ อาจมีความหมายกว้างขวางและแตกต่างไป อย่างเช่น กลุ่มหมู่บ้าน หมู่บ้านจัดสรรหรือ กลุ่มของอาคารที่มีนิติบุคคลดูแลผู้อยู่อาศัย รวมถึงในสถานศึกษาที่มีครูนักศึกษาที่อยู่รอบตัวผู้ป่วย ทั้งหมดนี้สามารถจัดเป็น ระบบปฐมภูมิ ที่ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับระบบกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นความใกล้ตัวของประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยที่ทำให้ได้รับการดูแลรักษาและส่งเสริมป้องกันอย่างเต็มที่นั่นเอง

กรมสุขภาพจิตยังคงสนับสนุน ให้กำลังใจ ร่วมพัฒนาและสร้างคุณค่า แก่ทีมผู้ดำเนินงานส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเครือข่ายพลเมืองสุขภาพจิตดี พร้อมขยายการดูแลจากทุกพื้นที่ทั่วไทย