บุคลากร รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เผย "กรณีค่าเสี่ยงภัยโควิด19" ในพื้นที่ได้ค่าเสี่ยงภัยโควิดครบแล้ว แต่ยังรอรอบ2 ชี้การทำงานไม่พบปัญหาการขัดแย้งมากนัก พร้อมย้ำอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าทิ้งเราไว้ข้างหลัง ช่วยเร่งเยียวยาให้กับพื้นที่ที่มีบุคลากรยังไม่ได้ค่าเสี่ยงภัยตั้งแต่รอบแรกโดยเร็วเช่นกัน
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2566 บุคลากรใน รพ.ภาคอีสานแห่งหนึ่ง เปิดเผยถึงกรณีค่าเสี่ยงภัยโควิดตกค้าง กับ Hfocus ว่า ในส่วนนักวิชาการสาธารณสุข สำหรับค่าเสี่ยงภัยในรอบแรกได้ครบทุกคนแล้ว แต่ยังรอรอบต่อไปว่าจะได้เมื่อไหร่ แต่บุคลากรส่วนมากคิดว่าได้ก็ได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรแต่ถ้าได้ก็ดี สำหรับปัญหาในการทำงานยังไม่พบปัญหาขัดแย้งมากนัก ซึ่งในแต่ละงานภาระหน้าที่แตกต่างกัน ความเหนื่อยความยากต่างกัน อย่างงานเวชระเบียนต้องเหนื่อยในการคีย์ข้อมูล อย่างพยาบาลต้องมีการดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด ซึ่งทุกหน้าที่มีความยากและเหนื่อยแตกต่างกันไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ว่าวิชาชีพไหนหนักกว่ากัน มองว่าการให้เงินค่าเสี่ยงภัยมาอาจพิจารณาจากตำแหน่ง ซึ่งบางตำแหน่งอาจไม่ได้คลุกคลีกับคนไข้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิดระบาดอย่างหนักที่ผ่านมา ห้องบัตรทำงานกันอย่างหนัก เพราะเรารับคนไข้เป็นเคสฉุกเฉิน รับคนไข้ทุกสิทธิ ซึ่งในการทำงานมีทั้งคนไข้ประวัติเก่าและประวัติใหม่และทำให้ต้องมาคีย์ข้อมูลใหม่หมด ภาระงานเพิ่มขึ้นมากขึ้นกว่าเดิมจากงานประจำที่ทำอยู่ คนไข้เพิ่มขึ้น ส่วนงานเวชระเบียนการคีย์ข้อมูลก็ยากขึ้น ตอนโควิดรับคนไข้เกือบ 2 เท่า จากที่เคยรับ สถานการณ์ดีขึ้นทุกอย่างดีขึ้น เราก็ดีใจ ที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่
เราคิดว่างานที่ทำเป็นหน้าที่ที่เราต้องไปทำ ซึ่งค่าเสี่ยงภัยที่ได้ถือเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร เราไม่ได้คิดตั้งแต่แรกว่าจะได้จริงๆ ต้องขอบคุณในส่วนนี้ด้วยที่ทำให้เรามีแรงในการให้บริการประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ยังได้เข้าไปช่วยงานต่างๆด้วยไม่ใช่แค่งานตัวเอง เช่น งานฉีดวัคซีน ฯลฯ ส่วนเรื่องการทำงานไม่ค่อยมีปัญหาทุกฝ่ายช่วยเหลือและสนับสนุนกันมาตลอด ทุกคนมองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว สุดท้ายอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าทัิ้งเราไว้ข้างหลัง ช่วยเร่งเยียวยาให้กับพื้นที่ที่มีบุคคลากรยังไม่ได้ค่าเสี่ยงภัยตั้งแต่รอบแรกโดยเร็วเช่นกัน ขอเป็นกำลังใจให้บุคคลากรในการทำงานบริการประชาชนด้วยว่าชีวิตประชาชนสำคัญทุกชีวิต ขอให้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีบริการคนไข้อย่างเต็มที่
- 2584 views