ลือสะพัด! เงินค่าเสี่ยงภัยล่าช้าเพราะอะไร หนำซ้ำล่าสุดกรมบัญชีกลางส่งหนังสือสถานะธนาคารกรุงไทย อาจต้องปรับเปลี่ยนย้ายธนาคาร  ทำบุคลากรหวั่นจะมีผลบัญชีเงินบำรุงจ่ายค่าเสี่ยงภัยล่าช้าไปอีกหรือไม่ ขอผู้บริหารสธ.-สสจ.อธิบายให้ชัดเจน

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2565  แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การปรับเปลี่ยนระบบบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาลในสังกัด รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ว่า ล่าสุดมีหนังสือด่วนที่สุดจากคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ส่วนถึงปลัดกระทรวง อธิบดี อธิการบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ผู้ว่าราชการ ฯลฯ และหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจต่างๆที่เกี่ยวข้อง ระบุถึงสถานะของบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ 1397/2563

แหล่งข่าวรายเดิม ให้ข้อมูลอีกว่า  ใจความสำคัญของหนังสือคือ ธนาคารกรุงไทย ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ประกอบกับบมจ.ธนาคารกรุงไทย มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นในอัตราร้อยละ 55.07 ของหุ้นทั้งหมด เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่ได้เป็นสวนราชการและไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนธนาคารของรพ.ในสังกัดที่มีการจ่ายเงินจากงบเงินบำรุงด้วยหรือไม่ ซึ่งหากต้องปรับเปลี่ยน จะส่งผลให้หน่วยงานรัฐ รพ.ในสังกัดสธ.ที่มีการบริหารจัดการเงินบำรุง เดิมมีระบบบัญชีเชื่อมโยงกับธนาคารกรุงไทย ต้องมีการปรับเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ จึงกังวลกันว่า จะส่งผลต่อการจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยล่าช้าไปอีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาบุคลากรหลายคนยังไม่ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยอีกมาก 

“ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ต้องขอให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลตรงนี้จะดีที่สุด เพราะขณะนี้ปัญหาเงินค่าเสี่ยงภัยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าอย่างมาก แม้จะไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรงกรณีการจัดสรรงบประมาณ แต่กระทรวงฯ ต้องมีส่วนในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพราะอย่างล่าสุดเรื่องเงินค่าเสี่ยงภัย ที่แบ่งออกเป็นเงิน 2 ก้อน คือ เงินจากงบเงินกู้ให้วิชาชีพต่างๆ และเงินจากงบกลางให้สายสนับสนุน หรือสายอื่นๆที่ปฏิบัติงานโควิด ตรงนี้แม้จะเป็นเพราะสำนักงบประมาณดำเนินการจัดสรรมาให้กระทรวงฯ  แต่สธ.ต้องชี้แจงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นก็บั่นทอนขวัญกำลังใจบุคลากร เพราะตอนนี้ในพื้นที่ตัดพ้อเรื่องนี้กันมากแล้ว ซึ่งแม้จะเป็นหน้าที่ในการทำงาน แต่ก่อนหน้านี้บอกว่าจะมีให้ แล้วติดปัญหาลากยาวมาทุกวันนี้ ความบั่นทอนย่อมเกิดขึ้นแน่นอน ” แหล่งข่าวรายเดิม กล่าว

แหล่งข่าวฯ กล่าวอีกว่า บุคลากรสาธารณสุขส่วนหนึ่งเข้าใจว่า งบค่าเสี่ยงภัยที่ล่าช้าอาจเป็นเพราะขั้นตอนการปรับเปลี่ยนระบบบัญชีที่ต้องเปลี่ยนธนาคาร ซึ่งจริงๆ ส่วนตัวคิดว่ามีหลายปัจจัย เพราะงบบางส่วนก็ไม่พอจริงๆ ต้องขอสำนักงบประมาณเพิ่มอีก ไม่รู้ว่าจะได้อีกเมื่อไหร่ ตอนนี้สิ่งสำคัญขอให้ผู้บริหารกระทรวงฯ ทั้งท่านปลัด สธ. และท่านรองปลัดสธ.ที่ดูแลเรื่องนี้ ขอให้ช่วยชี้แจงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง หรือทำหนังสือชี้แจงว่า เงินค่าเสี่ยงภัยล่าช้าเพราะอะไร เนื่องจากในพื้นที่ จังหวัดต่างๆวุ่นวายมาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หลายแห่งไม่มีการอธิบายหรือชี้แจงเกี่ยวกับค่าเสี่ยงภัยให้เข้าใจอย่างละเอียด

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ถึงทราบเรื่องนี้แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการและจะให้ข้อมูลทำความเข้าใจต่อไป

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เร่งของบกลางเพิ่ม! จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดกลุ่มตกหล่น-ค้างจ่าย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org