จากกรณีค่าเสี่ยงภัยโควิด19 สำหรับผู้ปฏิบัติงานโควิดทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เกิดการจ่ายล่าช้าและตกค้างมานาน ส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุขหลายคนตั้งคำถามว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร จะได้เมื่อไหร่ เพราะลูกจ้างเราก็คนเหมือนกัน ทำงานเหมือนกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 นางสาวอุดมลักษณ์ สามารถ ตำแหน่งธุรการ รพ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จึงออกมาเรียกร้องค่าเสี่ยงภัยโควิดที่กระทรวงสาธารณสุขได้ค้างจ่าย ตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ 65 - 30 มิถุนายน 65 จำนวน 4 เดือนครึ่ง ทั้งนี้ ได้เปิดเผยกับ Hfocus ว่า จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ในเรื่องค่าเสี่ยงภัย ที่ สธ.ได้มีการแบ่งสายงานเป็นวิชาชีพ และลูกจ้างทั่วไป แต่ในทางกลับกัน ในช่วงโควิดเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือประชาชน ชุมชน ต่างๆ ยังไม่ได้มีการแบ่งสายงานตั้งแต่แรก ซึ่งการให้ค่าเสี่ยงภัยในรอบที่ 3 ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึง มิถุนายน 2565 ยังไม่ได้ในส่วนนี้เลย
ดังนั้น จึงอยากถามว่าค่าเสี่ยงภัยที่เราได้ทำงานหนักในช่วงโควิดมาตลอดจะได้เมื่อไหร่ และอีกเรื่อง ถ้าทำได้อยากให้หน่วยงานหรือผู้บริหารที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาลงพื้นที่ว่าใครทำงานเป็นยังไงบ้าง เข้ามาตรวจสอบตามความเป็นจริง เนื่องจากมีบางคนไม่ได้ทำงานหน้างานจริงๆแต่กลับได้ค่าเสี่ยงภัยเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเอาเกณฑ์อะไรมาวัดว่าใครควรได้หรือไม่ได้ ถ้าทำได้หรือตรวจสอบได้จะดีมาก
เพราะคนทำงานจริงๆเหนื่อยมาก เพราะเจ้าหน้าที่น้อยผู้มารับบริการเยอะ ซึ่งบางวันในตอนนั้นมีผู้เข้ารับบริการตรวจโควิดเกือบ 200 คน/วัน แต่เจ้าที่ทำงานแค่ 3-4 คน ซึ่งต้องทำให้เสร็จในวันนั้นเลย สำหรับเรื่องถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้เราจึงเป็นข้อสงสัยว่าทำไมต้องแบ่งสายงานในตอนหลัง แล้วรู้ได้ยังไงว่าใครทำอะไรบ้าง อย่างเช่น เราเองเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการบันทึกข้อมูล ที่ไปทำงานหน้างานเช่นกัน แต่พอแบ่งสายงานเรากลับเป็นสายงานที่ไม่ได้อยู่หน้างาน ทั้งๆที่ทำงานหนักอยู่หน้างานเหมือนกัน
"สุดท้ายเราก็อยากรู้ว่าค่าเสี่ยงภัยจะได้เมื่อไหร่ มีแต่บอกให้เรารอเหมือนไม่เห็นความสำคัญเรา ซึ่งมันเป็นเงินที่เราควรจะได้ไปนานแล้ว ไม่ควรล่าช้าหรือตกหล่น เพราะลูกจ้างเราก็คนเหมือนกัน ทำงานเหมือนกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน" อุดมลักษณ์ กล่าว
- 2418 views