ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมสุขภาพจิต รุดลงพื้นที่สุไหงโกลกทันที หลังเหตุพลุระเบิด เร่งประเมินสภาพจิตใจ เยียวยาเพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวแล้วกว่าสองร้อยคน

จากกรณีเหตุโกดังเก็บดอกไม้เพลิงระเบิด ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดมูโนะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าแหล่งใหญ่ที่สุดของอำเภอสุไหงโก-ลก ได้รับความเสียหาย ทั้งบ้านเรือนร้านค้าและมีผู้ประสบภัย กว่า 200 ครัวเรือน โดยเบื้องต้นมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 117 ราย และผู้เสียชีวิต 12 ราย นั้น 

"ทีมสุขภาพจิต เร่งเยียวยาผู้อยู่ในเหตุพลุระเบิด อ.สุไหงโกลก "

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2566 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แสดงความห่วงใยประชาชนผู้ประสบเหตุและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และได้มอบหมายให้ นายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และนางสาวสุริ อุปมนต์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ส่งทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) ของหน่วยงานสู่พื้นที่ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ทันที โดยมีการสนับสนุนทีมงานช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ร่วมกับทีมช่วยเหลือจากนายแพทย์ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส และทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จาก 12 หน่วยงาน ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ที่เข้าประจำการ ณ ศูนย์พักพิงตำบลมูโนะ เพื่อประเมินสถานการณ์เบื้องต้นและดูแลจิตใจประชาชนตามแนวทางมาตรฐาน

"ทีมสุขภาพจิต เร่งเยียวยาผู้อยู่ในเหตุพลุระเบิด อ.สุไหงโกลก "

นับตั้งแต่ช่วงเวลาหลังเกิดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ มีจำนวนผู้ได้รับการเยียวยาเบื้องต้นแล้วกว่า 200 คน ซึ่งพบว่าผู้ประสบเหตุและผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะตื่นตระหนก จากการเผชิญกับความสูญเสียในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การมีภาวะวิตกกังวล ความหวาดกลัว ความเครียด ความเศร้าที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้รวมถึงการเสียชีวิตของเด็กและผู้ปกครองที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป

"ทีมสุขภาพจิต เร่งเยียวยาผู้อยู่ในเหตุพลุระเบิด อ.สุไหงโกลก "

ทีม MCATT ได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อการวางแผนดูแลจิตใจผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังภาวะเครียดฉับพลัน (Acute Stress Disorder: ASD) ภาวะซึมเศร้า (Depression) การป้องกันไม่ให้ใช้ยาเสพติดเพื่อเยียวยาตนเอง ในกลุ่มเสี่ยง และมีการติดตามต่อเนื่องผ่านระบบฐานข้อมูล CMS (Crisis Mental Health Surveillance System) ของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับการดูแลเยียวยาจิตใจตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ จากทั้ง ศอ.บต. กระทรวงสาธารณสุข โดยเขตสุขภาพที่ 12 และจังหวัดนราธิวาสต่อไป     

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สธ.เผยเหตุโกดังพลุระเบิดเสียชีวิต 12 ราย บาดเจ็บ 108 ราย สั่งทีมดูแลเยียวยาจิตใจ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง