“สภากาชาดไทย” รุกฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ให้แก่เด็กในค่ายผู้ลี้ภัย จ.ราชบุรี ตามพันธกิจส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนไทยและบุคคลกลุ่มเปราะบาง
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยลงพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนปัองกันมะเร็งปากมูด (HPV) แก่กลุ่มนักเรียนหญิงอายุระหว่าง 9-15 ปี ในจังหวัดราชบุรี รวมทั้งกลุ่มเด็กหญิงที่ไม่มีสัญชาติไทย และบุตรคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์สถานะตนเอง (Stateless People) ซึ่งอาศัยอยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยการสู้รบ บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยมีองค์กรระหว่างประเทศสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) และองค์กร International Rescue Committee (IRC) ร่วมสังเกตการณ์
นายกฤษฎา กล่าวว่า การบริการฉีดวัคซีนครั้งนี้ เป็นไปตามที่ สภากาชาดไทยได้รับบริจาควัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ จากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนพันธกิจของสภากาชาดไทย ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนไทยและบุคคลกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามหลักมนุษยธรรม โดยสภากาชาดไทย ได้มอบหมายให้ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และเหล่ากาชาดจังหวัดนำวัคซีนมะเร็งปากมดลูกหรือ HPV ไปฉีดให้กับเด็กหญิงกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว สำหรับผู้ลี้ภัยสงครามตามแนวชายแดน จำนวน 40,000 โดส หรือ 20,000 คน เพื่อลดการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก และเพิ่มประสิทธิภาพ ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้มีกำหนดฉีดทั้งสิ้น 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน
“สภากาชาดไทยโดยสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศได้นำเอาเทคโนโลยีการถ่ายภาพจดจำใบหน้า (Face Recognition) และการถ่ายภาพม่านตา (Iris Recognition) เข้ามาช่วยสนับสนุนทางการแพทย์ ในการบันทึกข้อมูลของผู้รับบริการฉีควัคซีนที่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ในการเข้ารับวัคซีน รวมทั้งสามารถนำข้อมูลนี้ไปต่อยอดในการทำงานด้านมนุษยธรรม โดยเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับการบริการสาธารณสุขของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อต่างๆ ในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา และจะเป็นประโยชน์กับคนไทยในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย” นายกฤษฎา กล่าว
- 297 views