กมธ.พัฒนาสังคม-ผู้สูงอายุฯ วุฒิสภา พร้อม สช. ร่วมจัดเวทีถกประเด็นเดินหน้าผลักดัน “การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย” หนุน “สิทธิการตายดี” ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ พร้อมระดมเป็นข้อเสนอสู่หน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างการเรียนรู้ของสังคม-ขับเคลื่อนระบบเพื่อรองรับต่อไป

 

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดย คณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุ และสังคมสูงวัย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการเสวนาเรื่อง “การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย” โดยมีคณะทำงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 50 คน

 

สำหรับเวทีดังกล่าวเป็นการจัดขึ้นเพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรค พร้อมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้งยังเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งเตรียมนำเสนอผ่านวุฒิสภาไปยังหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่าย เพื่อให้นำไปสู่การขับเคลื่อนของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป

 

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปด้านสังคม กิจการผู้สูงอายุ และสังคมสูงวัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ให้สิทธิบุคคลในการแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพียงการยื้อชีวิต หรือที่เรียกกันว่า ‘สิทธิการตายดี’ ตามมาตรา 12 โดยตลอดระยะเวลา 15 ปี ทาง สช. รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกันสร้างการขับเคลื่อนทางสังคม การกระจายความรู้ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมระบบบริการเพื่อรองรับไปแล้วจำนวนมาก

 

นพ.อำพล กล่าวว่า จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทางกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ มองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจที่ควรหยิบยกขึ้นมาศึกษาและพิจารณา เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ในฐานะฝ่ายบริหาร และส่งผ่านไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนสิทธิตามมาตรา 12 นี้ ให้เกิดผลสำเร็จและเข้าถึงได้จริงมากยิ่งขึ้น

นพ.อำพล ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของข้อเสนอที่จัดทำขึ้นนี้ ด้านหนึ่งก็จะต้องให้น้ำหนักไปที่ภาครัฐ ส่วนราชการต่างๆ หรือฝ่ายผู้ให้บริการ เพราะหากกลุ่มนี้เพิกเฉยแล้ว ต่อให้ประชาชนมีสิทธิอย่างไรก็คงไม่ได้รับ โดยอาจมองการขับเคลื่อนใน 4 สาขา ได้แก่ บริการสาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการสังคม และสุดท้ายในสาขาอื่นๆ เช่น ระบบการเงินการคลัง จะสามารถเข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้อย่างไร หรือระบบข้าราชการ จะต้องมีการกำหนดตำแหน่งอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เป็นต้น

 

“ในอีกด้านหนึ่งคือข้อเสนอต่อสังคมทุกภาคส่วน ตัวประชาชน หรือในระดับครอบครัว ชุมชน ก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ เข้าใจ และสนับสนุนระบบเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันบริบทของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนเขามีการทำเรื่องนี้ไปไกลแล้ว หรือกลไกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างวิสาหกิจเพื่อสังคม เราจะทำให้เกิดความชัดเจนขนาดไหน ฉะนั้นตอนนี้เราอาจต้องการเครื่องมือการทำงานในแนวราบ ที่จะเข้ามาเป็นแกนกลางให้เกิดกระบวนการพูดคุย เป็นเวทีกลางในเรื่องนี้ และดึงพลังของแต่ละส่วนเข้ามาเชื่อมโยงกัน เพื่อยกระดับและต่อยอดงานนี้ให้สำเร็จได้” นพ.อำพล กล่าว

 

ขณะที่ รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องของการตายดี จะต้องการระบบการสนับสนุนที่รอบด้านและการจัดการองคาพยพทางสังคมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อประเด็นของความตายจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. สังคมสูงวัย โครงสร้างประชากรที่บิดเบี้ยว 2. ความเจริญทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเทคโนโลยี 3. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในโลก 4. โครงสร้างและทุนทางสังคมที่อ่อนแอ

รศ.ดร.ภาวิกา กล่าวว่า ด้วยรูปแบบสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ได้ทำให้การรับรู้และตระหนักในเรื่องของความตายค่อยๆ จางหายไปจากการรับรู้ของผู้คน ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาความเป็นเมือง ที่ทำให้พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ทางความเชื่อต่างๆ หายไป คนจึงไม่ได้มองเห็นเรื่องความตายในชีวิตประจำวัน หรือปัจจัยของทุนนิยม ที่ทำให้คนมองแต่เป้าหมายความสำเร็จของชีวิต ไม่ได้คิดถึงความตายที่ใกล้เข้ามาทุกวัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีทาง สช. และภาคีต่างๆ ที่ขับเคลื่อนแนวคิดเชิงสังคม เป็น Death Positive Movement เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนมีโอกาสระลึกถึงความตาย พูดคุยกันได้มากขึ้น

 

“สุดท้ายแล้วนโยบายที่ดีที่สุด คือนโยบายทางสังคมที่มองคนทั้งชีวิตของเขา ไม่ใช่เพียงดูแลคุณภาพชีวิตระยะสุดท้าย แต่ชีวิตของเขาก่อนหน้านี้ถูกปล่อยให้แย่มาตลอด แล้วในตอนท้ายจะดีได้อย่างไร ดังนั้นก่อนตาย เราก็ต้องทำให้คนมีโอกาสได้มีชีวิตที่ดีด้วย พร้อมกันนั้นก็ทำให้ผู้คนได้มีโอกาสระลึกถึงความตายในขณะที่ยังมีชีวิต ในจริตที่เหมาะสมตามช่วงเวลา ช่วงวัย เพื่อให้วงจรที่จะสนับสนุนการตายดีนั้นเกิดขึ้นได้ และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน” รศ.ดร.ภาวิกา กล่าว

 

ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในระยะสุดท้ายของชีวิต ถือเป็นงานที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ตามหลักการทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in  all policy ที่ให้เกิดการทำงานร่วมกันหลากหลายภาคส่วน เนื่องจากปัจจุบันเราเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัย มีประชากรที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังรุนแรงและรักษาไม่หายเพิ่มมากขึ้น ทำให้จะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อการแพทย์มีความก้าวหน้า ก็สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ยาวนานได้มากขึ้นด้วย

 

“มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ได้ให้สิทธิพื้นฐานของผู้ป่วยในการปฏิเสธการรักษา ที่เป็นเพียงเพื่อยืดชีวิตในวาระสุดท้าย แต่ผู้ป่วยจะยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลตามความเหมาะสมเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและอาการต่างๆ หรือที่เรียกว่า Palliative care เป้าหมายของเราจึงต้องการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองประชาชนให้สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้ โดยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในระบบบริการทั่วประเทศ เช่นเดียวกับระบบนโยบายของประเทศที่ต้องรองรับ”

 

นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้จำเป็นจะต้องเชื่อมโยงการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งล้วนมีบทบาทให้เข้ามาร่วมกัน เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ติดบ้านติดเตียง  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สนับสนุนการดำเนินงานตามกฎหมายที่มีในการดูแลผู้สูงอายุ  หรือกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่สามารถจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุ และระบบบริบาลในพื้นที่ ตลอดจนถึงภาคส่วนอื่นๆ เช่น กระทรวงการคลัง ที่อาจจัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับการดูแลผู้ป่วย กลุ่มนี้ ดังนั้นหากหน่วยงานภาคีทั้งหมดได้เข้ามาร่วมกันวางระบบเพื่อรองรับ สนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม จะมีส่วนช่วยทำให้ระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของไทยดียิ่งขึ้น นายสุทธิพงษ์ กล่าว