"หมอฉันชาย" ย้ำกรณีหยุดรักษาไม่ก่อประโยชน์ผู้ป่วยระยะท้าย ไม่ใช่หยุดกระบวนการรักษาทั้งหมด แต่เป็นการประคับประคอง สิ่งสำคัญต้องดูเป้าประสงค์ ส่วนกรณีคนไข้ไร้ญาติ ทางรพ.มีคณะกรรมการพิจารณาออกเป็นมติทางการ ขณะที่รพ.เอกชนมีกฎเหล็กดำเนินการสิทธิแสดงเจตนาไม่ประสงค์รักษา ต้องมีหลักฐานชัด หวั่นฟ้องร้อง
เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี ภายในการประชุม "สร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4" นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กล่าวในการเสวนา "ต้องรู้อะไรบ้างเมื่อต้องรับมือกับความตาย" ว่า ขณะนี้มีกฎหมายรองรับในมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นกฎหมายช่วยในการวางแผนชีวิต โดยเป็นการรับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายในชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ซึ่งการรับรองดังกล่าวต้องไปไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลที่ได้ทำหนังสือแสดงไว้ ให้ถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง ทั้งนี้ ต้องย้ำว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ใช่แค่ประเทศไทยทำประเทศเดียว แต่กฎหมายนี้เป็นสากล และนานาประเทศพูดเรื่องนี้เยอะมาก เพราะนับเป็นอารยะของสังคมประเทศนั้นๆที่สนใจและให้ความสำคัญการดูแลระยะท้ายของชีวิต
"หนังสือแสดงเจตนา นับเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษา เพราะในเมื่อบุคคลคนนั้นไม่สามารถสื่อสารแล้ว และไม่สามารถรักษาได้อีก จะดีหรือไม่ หากเขาได้แสดงเจตนาไว้ก่อนเกี่ยวกับการรักษาของตนเอง ดังนั้น มาตรา 12 ประโยชน์ คือ ทำให้เกิดการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้าเกิดผลดีทั้งผู้ป่วย และครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะท้ายของครอบครัว และของหน่วยงานสาธารณสุข ลดข้อร้องเรียนที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างบุคลากรสาธารณสุข กับประชาชน" รองเลขาธิการ สช.กล่าว
นายสิทธิพงษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีกฎหมายดังกล่าวออกมา ทางสช.ได้มีการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งภาครัฐ ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง การดูแลระยะยาวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ได้ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ ปัจจุบันท้องถิ่นหลายแห่งมีการตั้งกองทุนในการดูแลระยะท้ายของชีวิต มีการบริหารจัดการทั้งเตียง ทั้งเงินสวัสดิการ ทั้ง Care Giver หากมีมากขึ้นจะยิ่งครอบคลุมอย่างทั่วถึง
ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อกังวลว่า จะทราบได้อย่างไรว่าการรักษาแบบใดที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยระยะท้าย ควรรักษาที่ได้ประโยชน์ และควรหยุดการรักษาที่ไม่ได้ประโยชน์ ส่วนอะไรที่ได้ประโยชน์มีหลักการสำคัญ คือ ตอบสนองเป้าประสงค์ของเราหรือไม่ อย่างการรักษาจุดประสงค์คือ ป้องกันไม่ให้เกิดโรค และรักษาโรคหรือหายไว ทำให้อยู่สบายทั้งกายและใจ หรือสุดท้ายเข้าสู่คำว่า ตายดี
"การอยู่นาน แต่อยู่ไม่ดี อยู่ไม่มีคุณภาพ แบบนี้ถือว่าไม่มีประโยชน์หรือไม่ ดังนั้น การรักษาที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่หน้าที่แพทย์ เพราะถ้ารู้ว่าไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรทำ แต่คำว่าประโยชน์ต้องขึ้นกับเป้าหมาย เช่น การรักษาแบบยืดเวลาออกไปเป็นวัน หรือ 3-4 วัน มีประโยชน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของชีวิต ยกตัวอย่าง หากมีคนไข้ 1 คน เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ตอนนี้ภาวะหายใจล้มเหลว เมื่อใส่ท่อช่วยหายใจจะมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น แต่จะทรมานกับการใส่ท่อช่วยหายใจ และโอกาสถอดท่อแทบไม่มี แบบนี้คิดว่าการใส่ท่อช่วยหายใจมีประโยชน์หรือไม่ ก็ต้องมาดูเป้าประสงค์ เช่น หากญาติต้องการยืดเวลา ยกตัวอย่าง อีก 3 วันลูกจะกลับจากต่างประเทศมาเจอหน้ากัน ก็ถือว่ามีประโยชน์ " รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวเพิ่มว่า ที่ผ่านมาหลายคนมักกลัวว่า ถ้าป่วยอย่าเจาะคอ แต่หลายคนป่วยแล้วเจาะคอ กลับอยู่ได้นานขึ้น อยู่ได้สบายขึ้นก็มี ควรสั่งลูกว่า การรักษาอะไรที่ไม่ได้ประโยชน์ ทำให้ทรมานขึ้นอย่าทำ ดังนั้น หากเราคิดว่าคุณภาพสำคัญกว่าเวลา และคอนเซปต์ตรงกันว่าไม่ได้ประโยชน์ก็ปรึกษาแพทย์ได้ สิ่งสำคัญต้องตั้งเป้าหมายให้ตรง แต่หากไม่มั่นใจก็ลองให้การรักษาไปก่อนได้ หากรักษาแล้วไม่ดี ทุกข์ทรมานขึ้นก็หยุดการรักษาได้ การทำแบบนี้ไม่ใช่การุณยฆาต แต่เป็นการหยุดการรักษาที่ไม่ได้ประโยชน์ แต่ไม่ได้หยุดรักษา
"หากเป็นการรักษาระยะสุดท้ายของชีวิตก็สามารถพิจารณาได้ แต่ขอย้ำว่า การหยุดการรักษาไม่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่ว่าหยุดการรักษาทั้งหมด ทางการแพทย์ไม่ได้หยุดรักษา แต่เราเปลี่ยนการรักษาเน้นการรักษาประคับประคอง เลือกการรักษาที่เหมาะสม เป็นการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเสียชีวิต ที่สำคัญคำว่าประโยชน์ ต้องเน้นว่า เป็นประโยชน์ของผู้ป่วย ไม่ใช่ของญาติ" รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวถึงกรณีข้อสงสัยผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ หรือมี แต่ญาติไม่ยอมมารพ. และหากอาการทรุดลง จนถึงระยะสุดท้ายยังต้องใส่ท่อช่วยหายใจ รักษาจนถึงที่สุดหรือไม่ ว่า หลักการเหมือนกันคือ โรคที่เป็นจะกลับมาปกติ หรือมีคุณภาพชีวิตได้หรือไม่ หรือหากไม่ได้ก็ต้องมาพิจารณาว่า การรักษาอะไรถ้าไม่มีประโยชน์ก็ไม่ควรทำ แต่หากไม่มีญาติเลย เราก็ต้องหารือมีการประชุมกันออกเป็นมติในรพ.ว่าจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญต้องมีทีมมาช่วยพิจารณา ไม่ใช่แค่คนเดียว โดยต้องออกมาในรูปแบบคณะกรรมการมาระดมความคิดเห็นเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม รพ.เอกชนหลายแห่ง มีกฎเหล็กว่า หากไม่มีหนังสือแสดงเจตนา จะไม่ยอมทำตาม เพราะมีประเด็นการฟ้องร้อง นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ
(ข่าวเกี่ยวข้อง : เวทีมหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง มุ่งดูแลผู้สูงวัยแบบประคับประคอง ลดปัญหาไม่ล้มละลายจากการรักษา)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/NHCO.thai/videos/625313122529703/
- 3896 views