สธ.หารือ 4 ชมรมสาธารณสุข ถกทางออกปัญหาภาระงานบุคลากร ปม “หมอลาออก” จ่อหารือแพทยสภาถอดหลักสูตรแพทย์อินเทิร์นเรียน 6+1 เป็น 7 ปี พร้อมคุย สปสช.กรณีเพิ่มสิทธิประโยชน์ขอให้สอดคล้องกับจำนวนบุคลากร ที่กังวลคือ ถ่ายโอนรพ.สต. กระทบชาวบ้านแห่ใช้บริการ “รพ.ชุมชน-รพศ./รพท.” เร่งหารือคกก.ระดับพื้นที่ ตั้งแนวทางออกจากสำนักงาน ก.พ. เพื่อให้จัดสรรบุคลากรเองได้
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานการประชุมเครือข่ายผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กับชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เพื่อหารือนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข
สธ.ประชุม 4 ชมรมสาธารณสุขหาทางออกปัญหาบุคลากรสาธารณสุข
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานการประชุมเครือข่ายผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 4 ชมรมแพทย์และสาธารณสุข เพื่อหารือการบริหารงานและการยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขของประเทศไทยในประเด็นสำคัญต่างๆ การพัฒนายกระดับศักยภาพการให้บริการและการลดภาระงาน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการแพทย์ทางไกล ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยไซเบอร์ และการดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ ทั้งด้านภาระงานที่เหมาะสม สวัสดิการต่างๆ เช่น บ้านพัก ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าทางสายอาชีพ และชีวิตส่วนตัว รวมทั้งการจัดบริการระดับปฐมภูมิในช่วงการถ่ายโอน รพ.สต.และทิศทางในอนาคต
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับการยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุขที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าดังนี้ 1.ด้านการพัฒนายกระดับศักยภาพหน่วยบริการ มีนโยบายทศวรรษแห่งการยกระดับระบบบริการสาธารณสุขไทย เพื่อเป็นโรงพยาบาลของประชาชน มอบหมายผู้บริหารทุกระดับจัดทำแผนการยกระดับศักยภาพหน่วยบริการ พร้อมให้ประเมินเปรียบเทียบภาระงานและระบบบริหารจัดการ เพื่อจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม โดยด้านภาระงาน ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่บุคลากรทางการแพทย์มีชั่วโมงการทำงานมาก ซึ่งมีการวางแผนแก้ไขภายใน 3 เดือน
2.ด้านสวัสดิการ บ้านพักเจ้าหน้าที่ ขณะนี้โรงพยาบาลได้จัดทำแผนก่อสร้างเพิ่มเติมใน รพ. 347 แห่ง โดยใช้เงินงบประมาณหรือเงินบำรุงหน่วยบริการ 3.ด้านค่าตอบแทนบุคลากร มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาตามข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับในแต่ละหน่วยบริการ 4.ด้านความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เช่น แพทย์ระดับเชี่ยวชาญ พยาบาลระดับชำนาญการพิเศษ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ในรพสต.และผู้ช่วยสสอ. เป็นต้นอาชีพ และ 5.ด้านชีวิตส่วนตัว ขณะนี้มีการสำรวจสถานะการเงินของบุคลากร เพื่อนำเข้าสู่แผนการสร้างความมั่นคงทางการเงิน (Happy Money)
ห่วง! ถ่ายโอน รพ.สต.กระทบบริการ เหตุคนไปใช้รพ.ใหญ่ เพราะการบริการบางอย่างหาย
“ในเรื่องภาระงาน มีหลายปัจจัยทั้งการดำเนินชีวิต ความคาดหวัง คนเข้ามาใช้บริการในรพ.มากขึ้น ในรพ.ชุมชน และรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป อีกทั้ง ระหว่างนี้มีการถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น ก็มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งไม่ได้ไปใช้บริการในรพ.สต. แต่ไปใช้บริการ ในรพ.ชุมชน และรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ก็ทำให้งานเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน ก็ทำให้เพิ่มภาระงานของบุคลากร เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ดูเรื่องความสอดคล้องกับภาระงานตรงนี้เราจะมาดูทั้งหมด ซึ่งจะประสานกับทางกองทุน อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ด้วยเช่นกัน” นพ.ณรงค์ กล่าว
รองปลัดสธ.กล่าวอีกว่า ในเรื่องการลาออกของบุคลากร ของแพทย์นั้น ขณะนี้ได้มีการหารือในระดับจังหวัด ทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ผู้อำนวยการรพ.ศูนย์ /รพ.ทั่วไป ท่านประธานชมรมรพ.ชุมชนจะสื่อสารไปยังบุคลากร ทำความเข้าใจ ดูแลให้ทั่วถึง จะให้มีระบบพี่เลี้ยงในการสนับสนุน ส่วนกรณีไหนไม่สบายใจให้นำเรื่องขึ้นมาหารือแก้ไข โดยได้ประสานผู้ตรวจราชการฯ และนพ.สสจ.แล้ว
เมื่อถามข้อกังวลเรื่องการถ่ายโอนรพ.สต. ไปท้องถิ่น จะทำให้กระทบการบริการ และประชาชนจะแห่มาใช้บริการรพ.ใหญ่หรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ช่วงการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ อย่างการถ่ายโอนรพ.สต. ขณะนี้ถ่ายโอนไปประมาณ 3 พันกว่าแห่ง หากไปตรวจสอบพื้นที่จะพบว่า มีช่องว่างในการจัดบริการ อย่างบริการหลายอย่างที่รพ.สต.เคยบริการ ไม่ได้ดำเนินการ ผู้ป่วยก็ไหลไปรับบริการ รพ.ชุมชน และรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ซึ่งสื่อมวลชนสามารถลงพื้นที่ไปดูภาพจริงได้ ตรงนี้เราก็จะมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไร โดยจะมีคณะกรรมการระดับอำเภอ มีสาธารณสุขอยู่ก็ต้องมาคุยกัน และจะมีการหารือหน่วยบริการที่ถ่ายโอนไปว่า ต้องยกระดับบริการ ยกระดับคุณภาพ ตรงนี้จึงต้องพิจารณาร่วมกันอีก
เล็งออกจาก ก.พ. เพื่อบริหารจัดการอัตรากำลัง บุคลากรเบ็ดเสร็จ
“เรื่องการจัดการบุคลากร ที่ผ่านมาเราไม่สามารถดำเนินการได้เบ็ดเสร็จ ทั้งอัตรากำลัง จำนวน ตำแหน่ง เพราะยังมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) หากกระทรวงสาธารณสุขจะทำได้เอง จึงมีแนวคิดว่าจะสามารถปรับแบบครู ตำรวจ โดยตั้งคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือประเด็นนี้” นพ.ณรงค์ กล่าว
เมื่อถามกรณีการตั้งคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูอัตรากำลัง การจัดสรรของตนเอง หมายความว่าจะเป็นแนวทางเพื่อออกจาก ก.พ.หรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า นัยยะเป็นเช่นนั้น แต่ยังเป็นรูปแบบการศึกษา เพื่อเสนอว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาเราติดข้อจำกัด ทั้งงบ ทั้งอัตรากำลัง ก็ต้องมาดูว่ามีทางเลือกอะไร ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพิจารณา และนำมาศึกษาอย่างจริงจัง หากศึกษาแล้วมีข้อดีในการบริหารจัดการบุคลากร ทั้งความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ก็ถือเป็นเรื่องดี
“กลุ่มพี่น้องของเราหลายๆวิชาชีพมาเรียกร้องความก้าวหน้าต่างๆ ซึ่งเมื่อมองกลับไปก็น่าเสียดาย หลายคนทำงานอย่างดีมาตลอดจนเกษียณไม่ได้รับซี 8 ทำให้หลายคนจึงตัดสินใจเสี่ยงถ่ายโอน ดังนั้น หากเราสามารถดำเนินการเบ็ดเสร็จได้ในกระทรวงฯเราก็ถือเป็นเรื่องดี หากจะศึกษาความเป็นไปได้ในการออกจาก ก.พ.” นพ.ณรงค์ กล่าว
หารือแพทยสภา ทบทวนแพทย์อินเทิร์น
นอกจากนี้ ในเรื่องแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือแพทย์อินเทิร์น กลไกที่จะจบในแต่ละปี จะมี 3 เรื่อง คือ 1. การผลิต 2.การจัดสรร และ3.การจัดสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ โดยการผลิตก็จะมีการทำงานร่วมกับยูฮอสเนต ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนของกระทรวงฯจะร่วมผลิตประมาณ 1 ใน 3 ขณะนี้เราผลิตแพทย์แบบ 6+1 คือ ไปเพิ่มพูนทักษะอีก 1 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อมีภาระงานในส่วนแพทย์อินเทิร์นมาก ที่ประชุมจึงมีการพิจารณาว่าจะหารือกับแพทยสภาว่า จะรับบุคลากรที่พร้อมในการปฏิบัติงานเลย โดยจะนำเรื่องเพิ่มพูนทักษะกลับไปสู่กระบวนการทบทวนในหลักสูตรการเรียนจาก 6+1 เป็นการเรียน 7 ปีหรือไม่ ตรงนี้จะมีการหารือกันอย่างจริงจัง
ส่วนเรื่องการจัดสรรนั้น ก็จะมีสัดส่วนการจัดบริการอย่างจบประมาณ 3 พันคน ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้รับประมาณ 1.8-1.9 พันคน ซึ่งก็ไม่เพียงพอ ส่วนการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการคงอยู่ ก็จะมีการดำเนินการเพื่อให้คงอยู่ต่อไปได้ โดยภาพรวมทางกระทรวงสาธารณสุขเราใส่ใจบุคลากรทุกระดับอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเสนอแพทยสภายกเลิกแพทย์เพิ่มพูนทักษะใช่หรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอที่จะไปหารือกับแพทยสภา
ระยะเร่งด่วนเกลี่ยแพทย์ในระดับเขตสุขภาพ แก้ปัญหาหมออินเทิร์น
เมื่อถามว่าระยะเร่งด่วนอย่างแพทย์อินเทิร์นบางพื้นที่ไม่เพียงพอ อย่างอีสาน หรือกรุงเทพฯ จะให้จังหวัดจัดเกลี่ยกันเองหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เดิมเรามีแพทย์เพิ่มพูนทักษะแบบข้ามเขตสุขภาพได้ แต่ปัจจุบันไม่มี ความยืดหยุ่นการบริหารจัดการหายไป แต่จริงๆ ตัวเลขอีสานได้พอสมควร แต่ที่ขาดคือ ปริมณฑล อย่างไรก็ตาม ในเขตสุขภาพจะสามารถเกลี่ยบุคลากรมาช่วยได้ แต่ข้ามเขตสุขภาพ ยังต้องหารือกันอีก ขณะนี้เราพยายามให้นพ.สสจ. หารือกับผอ.รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชนในการปรับเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ โดยท่านปลัดสธ. อยากให้นพ.สสจ. เป็นคอมมานเดอร์ (commander) และผอ.รพ.ศูนย์รพ.ทั่วไปเป็นรองคอมมานเดอร์ มาช่วยการแก้ปัญหาเรื่องนี้ อันนี้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาระดับพื้นที่ นอกเหนือจากต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสปสช. เรื่องเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่อาจต้องคำนึงถึงบุคลากร และปัจจัยเรื่องงบประมาณด้วย
บัตรทองช่วยเข้าถึงบริการ เป็นสิ่งทีดี แต่ภาระงานมากก็ต้องหาทางออกร่วมสปสช.
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส่วนหนึ่งที่ภาระงานมาก เพราะการเข้าถึงบริการของบัตรทอง นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จริงๆการมีระบบบัตรทอง เป็นเรื่องดี ทำให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่แน่นอนว่า เรื่องของที่มาของกองทุนต่างๆ อย่างสิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องดูความสมดุลของบุคลากรที่มีอยู่ด้วย ซึ่งตามสถิติการบริการประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างระยะเวลาการรอคอย การเข้าพบบุคลากรทางการแพทย์ ประเทศไทยมีระยะเวลาสั้นกว่า และสถิติโดยจำนวนการเข้าถึงบริการมากกว่าหลายประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องดีในการให้ประชาชนเพิ่มเข้าถึงบริการ
“วันนี้เราส่งสัญญาณแล้วว่า สิทธิประโยชน์ทั้งหลายจะกำหนดอะไร ขอให้มาหารือในส่วนของบุคลากรว่า ต้องมากน้อยเท่าไหร่ หากกำหนดค่าเป้าหมายไปด้วยกัน ก็จะช่วยลดความไม่สมดุลได้” นพ.ณรงค์ กล่าว
ไม่ขอตอบประเด็นร่วมจ่าย
เมื่อถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ประเทศไทยควรต้องมีระบบร่วมจ่าย หรือโควเพย์เมนท์ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขออนุญาตเรื่องนี้ละเอียดอ่อน แต่การบริหารงบประมาณที่ผ่านมาก็มีปัญหา อย่างก่อนโควิด รพ.หลายแห่งมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่โควิดมาก็พบว่าหลายแห่งรายรับมากกว่ารายจ่าย จึงเอาเงินส่วนนี้มาพัฒนาสวัสดิการ มาพัฒนาระบบต่างๆ บ้านพัก เป็นต้น ซึ่งงบประมาณภาพรวมอาจต้องมีการปรับ แต่เรื่องร่วมจ่ายขอยังไม่ตอบกรณีนี้
เมื่อถามว่ามีคำถามว่าควรแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณไปรพ.มากพอ และทำให้ค่าตอบแทนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะสามารถตอบตรงนี้ได้หรือไม่ ต้องมาดูว่า หากหักเงินเดือนมาแล้ว งบเมื่อแบ่งรายละเอียดออกมาจะเป็นอย่างไร งบประมาณต้องสมดุลในหลายๆประเด็น ต้องอยู่ที่ตัวเลข
health literacy เป็นสิ่งสำคัญ
ต่อคำถามว่าการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทำมานานมาก แต่ดูเหมือนก็ยังไม่เต็มร้อย จะทำอย่างไรให้คนตระหนักดูแลสุขภาพ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ก็ต้องช่วยกันสื่อสาร ทั้งสื่อมวลชน และทางกระทรวงฯ ก็ทำมาตลอด หากอาการไม่รุนแรงก็สามารถใช้บริการใกล้บ้านใกล้ใจได้ ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี เทเลเมดิซีนก็ช่วยได้ ซึ่งเรื่อง health literacy เป็นสิ่งสำคัญ
“ในเรื่องไพรมารี่แคร์นั้น เรามีพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 อยู่ ซึ่งบทบาทปฐมภูมิ เวทีระดับโลกได้รับการยอมรับ เพียงแต่ฐานของเรา ที่ออกแบบในการดูแลประชาชนในพื้นที่ แต่สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป ตอนนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเราก็ต้องพยายามและทำให้คนตระหนักและมุ่งเน้นเรื่องการดูแลระดับปฐมภูมิ หรือการดูแลใกล้บ้านใกล้ใจให้มากยิ่งขึ้น” นพ.ณรงค์ กล่าว
ข้อสรุปการประชุม 4 ชมรมสาธารณสุข
สำหรับการประชุมในวันนี้ มีข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อให้แต่ละชมรมได้มีการสื่อสาร บริหารจัดการ และดำเนินการในหน่วยงาน ดังนี้
1.ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด บริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันในระดับจังหวัด (One Province One Hospital) ให้สามารถพัฒนาศักยภาพเป็นโรงพยาบาลของประชาชนในระดับจังหวัด
2.ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป บริหารจัดการพัฒนาการจัดระบบบริการ และดูแลบุคลากรในด้านภาระงานที่เหมาะสม ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ ระบบการเรียนการสอนและงานวิจัย
3.ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ยกระดับศักยภาพการบริการในโรงพยาบาลตามมาตรฐานและความต้องการของประชาชน เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลของประชาชนในพื้นที่
4.ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จัดบริการ ควบคุม กำกับระบบบริการปฐมภูมิตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ, พ.ร.บ.การสาธารณสุข และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแต่ละชมรมฯ รับไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละระยะ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากร ยกระดับการบริการตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ พัฒนาระบบสาธารณสุขให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-วิกฤตระบบสาธารณสุข ภาระงานล้น บุคลากรอ่อนแรง ทางแก้ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ”
-สปสช.เตรียม5แนวทางหารือ สธ.ลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์
-แพทยสภาห่วงปัญหาหมอลาออก และขาดแคลนแพทย์ ของสธ. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อดำเนินการ
-เสียงสะท้อน “พยาบาล” ลาออกเพียบ! เฉลี่ยปีละ 7,000 คน เหตุภาระงานล้น ค่าตอบแทนน้อย
-สธ.เตรียมหารือ สปสช. ถกปัญหาบริการบัตรทองเพิ่ม ทำภาระงานแพทย์ พยาบาล บุคลากรล้น!
-สธ.แจง “หมอลาออก” ปัญหาสะสม ล่าสุดวางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานนอกเวลา 64 ชม.ต่อสัปดาห์
- 5157 views