สธ.แถลงแก้ปัญหา “หมอลาออก” ตัวเลขไม่ถึง 900 คน เผยข้อมูล 10 ปีเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน ยังไม่รวมเกษียณ ขยายกรอบอัตรากำลังเพิ่มเป็น 35,000 คนจากปัจจุบัน 24,000 คน พร้อมดูแลสวัสดิการ เกลี่ยคนช่วยลดภาระงาน มอบผู้ตรวจฯ ดูแลใกล้ชิด ส่วนบัตรทองต้นเหตุปัญหาหรือไม่ ไม่ขอสรุป ชี้มีหลายปัจจัย
หลังจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์แพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์ที่จบใหม่และต้องไปเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลรัฐลาออก โดยระบุถึงภาระงานอย่างหนัก ควงเวรไม่มีพักผ่อน จนเกิดคำถามว่า เพราะเหตุใดกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถแก้ไขได้อีกนั้น
สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 2 พันคน
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่แพทย์ แต่ยังมีวิชาชีพอื่นๆด้วย ทั้งพยาบาล ทันตแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แพทย์ในปัจจุบันจำนวนแพทย์ทั้งหมดมีประมาณ 50,000-60,000 คน เป็นแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน หรือคิดเป็น 48% แต่ภาระงานเราที่ดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพฯประมาณ 45 ล้านคน จะเห็นว่า 75-80% ของประชากร แต่มีแพทย์ในระบบแค่ 48% ตัวเลขนี้จึงเห็นภาระงานชัดเจน เฉลี่ยต่อประชากรจะอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ซึ่งมาตรฐานโลกกำหนดให้ 3 ต่อ 1,000 คน ยังขาดอยู่เยอะ
แพทย์กระจุกตัวเขตสุขภาพ 13 กทม.นำโด่ง
โดยเมื่อกระจายแพทย์แยกรายเขตสุขภาพทั้ง 12 เขตสุขภาพ พบว่า เขตสุขภาพที่ 13 ในกทม.โด่งสุด แต่อย่างเขตอื่นๆจะมีสัดส่วนประชากรประมาณ 3-5 ล้านคน โดยแพทย์แต่ละพื้นที่สัดส่วนแตกต่างกัน อย่างเขต 7,8 ,9 และ 10 ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน เป็นภาระงานของสธ. อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับการผลิตแพทย์นั้น โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2561-2570 โดยการผลิตภาพรวมโดยกระทรวงอุดมศึกษาฯ ได้มีแผนผลิตแพทย์เพิ่มประมาณ 3,000 กว่าคน ซึ่งหากผลิตแบบนี้จนถึงปี 2570 จะมีแพทย์ทั้งหมด 33,780 คน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะผลิตฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็จะมีการผลิตร่วมกันทั้งหมด ทั้งโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีการทำงานร่วมกัน ซึ่งสธ.จะทำหน้าที่ผลิตประมาณปีละ 1 พันกว่าคน โดยหากผลิตจนถึงปี 2570 จะได้ประมาณ 11,516 คน
เปิดข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีจัดสรรแพทย์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เมื่อผลิตแพทย์แล้วก็จะมีการจัดสรร โดยคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่เรียกว่า CONSORTIUM ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้เป็นปลายทางที่เดียว โดยจะมีคณะแพทย์ประมาณ 20 กว่าแห่งเป็นกรรมการร่วมกัน โดยการจัดสรรก็จะกระจายให้แต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงาน ทั้งกระทรวงกลาโหม กทม. กระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นต้น อย่างในปีงบประมาณ 2566 สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ไม่รวมเอกชนกับจบต่างประเทศ โดยตัวเลขนี้ต้องแบ่งแต่ละกระทรวงฯ ต้องลบทั้งอาจารย์แพทย์ในสาขาปรีคลินิก อาจารย์แพทย์ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ที่เปิดใหม่ และหน่วยงานคณะแพทยศาสตร์อื่นๆอีก สรปโควต้าคงเหลือมาที่ สธ. อยู่ที่ 1,960 คน แต่เราต้องแบ่งกระทรวงกลาโหมด้วย ซึ่งเราเคยทำการวิจัยว่า สธ.จริงๆควรได้ประมาณ 2,055 คน
ทั้งนี้ หากพิจารณาการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ที่เราได้มาย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่า อย่างปี 2561 เราได้จัดสรร 1,994 อัตรา ปี 2562 จัดสรรให้ 2,054 อัตรา ปี 2563 จัดสรรให้ 2,031 อัตรา ปี 2564 จัดสรรให้ 2,023 อัตรา และปี 2565 จัดสรรให้ 1,849 อัตรา
แพทย์อินเทิร์น จัดสรรไม่ได้ตามที่ขอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อแพทย์จบ 6 ปี ตามกฎเกณฑ์แพทยสภาระบุให้ต้องไปทำงานเพิ่มพูนทักษะ ที่เรียกว่า อินเทิร์นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี เรียกว่า ปีที่ 7 ต้องไปเพิ่มพูนทักษะในรพ. 117 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดยการเพิ่มพูนทักษะ เพื่อให้ได้เจอเคส มีประสบการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ ศักยภาพรวมในการรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะอยู่ที่ 3,128 คนใน 117 รพ. แต่จำนวนจัดสรรอยู่ที่ 2,150 คน หรือคิดเป็น 68.7% ดังนั้น การจัดสรรจึงไม่เพียงพอ ทำให้มีการฝึกอบรมเพิ่มเติม ทั้งโครงการ CPIRD ทั้งโอดอท ทั้งนอกสังกัด ทั้งที่เรียนเอกชน แต่จำนวนก็ยังไม่เพียงพอ
จัดสรรหมอไม่พอ ขณะที่ภาระงานจาก UC เพิ่ม
เมื่อจำนวนจัดสรรมาไม่เพียงพอ ทำให้มีภาระงานเพิ่ม อย่างภาระงานที่เป็น UC ก็เข้ามารับบริการได้ ทางกระทรวงฯ ไม่เคยปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผลสำรวจระหว่างวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 เราพบชั่วโมงการทำงานนอกเวลา แบ่งออกเป็น 1.ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 9 แห่ง แผนดำเนินงานแก้ไข 3 เดือน 2.ทำงานมากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มี 4 แห่ง แผนดำเนินงานแก้ไข 6 เดือน 3.ทำงานมากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 11 แห่ง แผนดำเนินงานแก้ไข 9 เดือน 4.ทำงานมากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 18 แห่ง และทำงานมากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 23 แห่ง โดยแผนดำเนินการแก้ไข 1 ปีขึ้นไป
“มาตรฐานโลกบอกว่าต้องต่ำกว่า 40 ชั่วโมง เป็นข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้ว แต่เขามีแพทย์เป็นแสนคน ซึ่งเราก็พยายามทำอยู่ เติมแพทย์เข้าไป จริงๆ ตัวเลขเหล่านี้เราลดลงมาแล้ว อย่างทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เดิม 9 แห่ง เราลดลงมาเหลือ 4 แห่ง ซึ่งเรามีแผนดำเนินการแก้ไขต่างๆ เพียงแต่เมื่อต้นน้ำน้อย แพทย์ยังไม่มากพอก็ยังเป็นปัญหา แต่ก็พยายามหาทางออกตลอด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
รองปลัดสธ. กล่าวอีกว่า เมื่อแพทย์อินเทิร์นทำงานครบ 1 ปี ก็จะได้ใบเพิ่มพูนทักษะ และสามารถไปลาเรียนต่อเฉพาะทางได้ ทำให้ออกจากระบบบริการประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข ตกปีละประมาณ 4 พันคน อย่าง 24,000 คน ก็จะเหลือประมาณ 20,228 คนในปี 2565 ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในการศึกษาต่อ
เปิดข้อมูลแพทย์ลาออกจากระบบ
สำหรับข้อมูลการลาออกของแพทย์ 10 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2556-2565 พบว่า มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน โดยแพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน ซึ่งถือว่าน้อย เพราะต้องอยู่ให้ครบตามแพทยสภากำหนดจึงจะไปสอบเชี่ยวชาญได้ ขณะที่ แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออกเยอะหน่อย เพราะครบคุณสมบัติไปเป็นแพทย์เฉพาะทางได้ ตัวเลขอยู่ที่ 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน โดยแพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน โดยสรุปภาพรวมเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน นอกจากนี้ยังมีเกษียณปีละ 150-200 คน รวมประมาณปีละ 655 คน
ดังนั้น ตัวเลขที่ออกไปยังสื่อมวลชนว่า ลาออกไป 900 กว่าคนจึงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเฉลี่ยในส่วนสธ.ลาออกอยู่ที่ปีละ 655 คน
“ในแต่ละปีเรารักษาคนได้อย่างไร โดยช่วงที่ออกไปเยอะๆคือปี 2003-2004 กราฟตกลงมา พอเราเพิ่มจำนวนการผลิตแพทย์เพิ่มช่วงหลัง การคงอยู่ในระบบของเรา โดยเรามี 2 ระบบ คือ กสพท. สอบเข้าโดบยตรง ส่วน CPIRD รับน้องที่สอบเข้าในต่างจังหวัด โดยน้องๆใน CPIRD ประมาณ 1 พันกว่าคนที่เรามีส่วนการผลิต เรารักษาได้ดีกว่า 80-90% แต่น้องๆที่สอบผ่านส่วนกลางอยู่ในระบบกว่า 70%” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
วางแผนขยายกรอบอัตรากำลังเพิ่มอีก 1 หมื่นอัตรา
รองปลัด สธ.กล่าวว่า การดูแลบุคลากรทั้งระบบของกระทรวงฯ ได้ดำเนินการมาตลอด อย่างค่าตอบแทน มีการขึ้นค่าโอที สวัสดิการ ที่พัก หอพักที่ต้องปรับปรุง ซึ่งจากช่วงโควิด ทำให้มีเงินบำรุงและนำมาปรับปรุงตรงนี้ได้ ส่วนความก้าวหน้า การศึกษาต่อ การเลื่อนระดับ การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งเราได้หารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ตลอด ส่วนเรื่องภาระงาน อย่างแพทย์มี 2 หมื่นกว่าคน จึงต้องมีแผนผลิตเพิ่ม อย่างล่าสุดปรับกรอบอัตรากำลังใหม่จะประกาศปี 2565-2569 โดยวางกรอบ 35,000 คนในปี 2569 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 24,000 คน ซึ่งจะเพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน
“อย่างข้อมูลเราประชากรพอๆกับ UK ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เขามีแพทย์เป็นแสนคน แต่ของเรายังไม่ถึง ซึ่งก็ต้องผลิตเพิ่มเรื่อยๆ ดังนั้น หากจะลดภาระงาน ก็อย่างที่บอกว่าเราทำงานให้ประชาชน เมื่อเขาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเข้าถึงได้ ไม่เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วเวลาจะพบแพทย์ต้องรอเป็นขั้นเป็นตอน ขณะที่พยาบาลก็จะมีกรอบเพิ่มเช่นกัน เราต้องทำให้ทุกวิชาชีพ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
เมื่อถามว่าการขยายกรอบอัตรากำลังแพทย์ แสดงว่าต้องหารือกับ ก.พ.ในการขอบรรจุข้าราชการเพิ่มหรือไม่ ขณะที่สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานขอกำหนดชั่วโมงการทำงานด้วย จะทำอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องอัตรากำลังต้องคุยกับสำนักงาน ก.พ. เพราะเราดำเนินการบริหารผ่านภาครัฐ โดย ก.พ.ควบคุมกำกับ ในทุกเรื่อง สธ.ต้องขอความเห็นชอบก่อนถึงจะได้
ส่วนข้อเรียกร้องของน้องๆ ได้รับทราบ ซึ่งไม่ได้นิ่งนอนใจ และนำข้อมูลต่างๆเหล่านี้มา และออกเป็นแผนดำเนินการ พี่ๆที่จบมาหลายปีก็ลงไปช่วย อย่างในบางแห่งก็ต้องเฉพาะเจาะจงที่หนักจริงๆ อย่างทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ยังเกินอยู่ จึงได้มีการหารือกับสำนักงาน ก.พ. มีเครื่องมือหลายๆอย่าง เช่น การทำแซนบ็อกซ์ อย่างการจ้างแพทย์หลากหลายแบบ อย่างแพทย์จบเอกชนมาเป็นลูกจ้าง หากมาบรรจุข้าราชการจะได้หรือไม่ ซึ่งเราจะเน้นเพิ่มจำนวนคน แต่ไม่ลดการบริการ เพราะจะกระทบประชาชน
เมื่อถามว่าแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนกรณีแพทย์ทำงานนอกเวลา 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ให้แก้ปัญหาภายใน 3 เดือน ขณะนี้ความคืบหน้าเป็นอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการติดตามข้อมูล ซึ่งมีการดีเลย์ไปนิดหนึ่ง โดยเอาข้อมูลแพทย์ใช้ทุนที่จะจบ โดยขณะนี้ข้อมูลถึง 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมข้อมูลน้องทำงานครบปี กำลังรวบรวมและจะอัปเดตข้อมูล ซึ่งขณะนี้ปลัดสธ.ได้ให้ผู้ตรวจราชการทุกเขต ที่รับผิดชอบรพ.เพิ่มพูนทักษะ 117 แห่งให้ไปดูแลตรงนี้ และน้องๆรุ่นใหม่กำลังไปเติมอยู่ในระบบตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนนี้ โดยผู้ตรวจฯทุกท่านลงไปกำกับดูแลเอง
เราไม่ลดการบริการ แต่จะเพิ่มจำนวนบุคลากร
เมื่อถามว่าการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นจะเป็นคำตอบแก้ปัญหา หรือเพราะค่าตอบแทนไม่เพียงพอ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เราเคยสำรวจว่าแพทย์ต้องการอะไร พบว่า เขาต้องการลดภาระงานมากที่สุด ส่วนค่าตอบแทนจะอยู่หลังๆ อย่างไรก็ตาม หมอ 24,000 กว่าคนแบกภาระการให้บริการประชาชนกว่า 45 ล้านคน ซึ่งเราจะลดบริการไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มจำนวนคนมาให้บริการ แต่เราก็ต้องขออัตรากำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องงบประมาณก็จะมีกฎเกณฑ์ส่วนกลางด้วย จะเท่าเอกชนก็ไม่ได้
ต่อคำถามว่าข้อมูลรพ.ที่ทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มี 9 แห่ง มีการแก้ไขอย่างไรในพื้นที่ไหน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน แพทย์จำนวนน้อยก็ทำให้ภาระงานมากขึ้น ส่วนเรื่องปัญหาอินเทิร์น กับสต๊าฟ ก็ต้องยอมรับว่าทำงานด้วยกันก็ย่อมมีปัญหา แต่เรามีการประเมินโดยแพทยสภา ร่วมกับ 36 ศูนย์แพทย์ของสธ. ส่วนการแก้ปัญหาก็จะมีการดำเนินการต่างๆ อย่างการโยกแพทย์ในรพ.ใกล้เคียงมาช่วยก็เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งให้ผู้ตรวจราชการฯ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ดำเนินการ
เมื่อถามถึงกรณีการเพิ่มจำนวนแพทย์ติดปัญหาอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเรียนแพทย์ต้องใช้ความรู้ความสามารถ บางคนต้องใช้เวลา 8-9 ปี แต่บางครั้งก็หลุดระหว่างทางก็มี เพราะเราต้องการคนที่มีคุณภาพ
เมื่อถามว่า บัตรทองเป็นสาเหตุทำให้คนไข้เข้ามาใช้บริการมาก จนเกิดภาระงานมากใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตนไม่ได้สรุปเช่นนั้น ซึ่งปัญหามีหลายปัจจัย
- 3872 views