มติ ก.พ. เห็นชอบกำหนดตำแหน่งใหม่ “นักสาธารณสุข” พร้อมแจ้งเวียนทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง ขณะที่สภาการสาธารณสุขชุมชนดีใจ หลังขับเคลื่อนร่วม 10 ปี พร้อมติดตามค่าตอบแทนวิชาชีพกับกระทรวงสาธารณสุข  แจงข้อแตกต่าง “นักวิชาการสาธารณสุข” กับ “นักสาธารณสุข”

 

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม  นายอเนก ทับทิม เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)  ประชุมพิจารณากำหนดตำแหน่งใหม่ให้แก่นักวิชาการสาธารณสุข เป็น “นักสาธารณสุข” ว่า  ในวันนี้(15 พ.ค.) คณะกรรมการ ก.พ. ชุดใหญ่ได้มีการประชุมพิจารณาการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการพิจารณาในฝั่งของ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข มาแล้ว จากนั้นก็มีอนุกรรมการวิสามัญฯ ของก.พ.ที่พิจารณาเรื่องนี้ จนสุดท้ายมีมติเห็นชอบเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา และได้นำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด ก.พ.ชุดใหญ่วันนี้ และมีมติเห็นชอบกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” ตามข้อเสนอของอนุกรรมการวิสามัญฯ

มติ ก.พ.ชุดใหญ่กำหนดตำแหน่ง นักสาธารณสุข

นายอเนก กล่าวอีกว่า ต้องขอขอบคุณมติดังกล่าว จากนี้ขั้นตอนต่อไปทราบว่า ทาง ก.พ.จะทำหนังสือเวียนเรื่องประกาศมาตรฐานตำแหน่ง นักสาธารณสุข ให้แก่ส่วนราชการต่างๆ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งเป็นผู้ใช้บุคลากรก็จะต้องทำเรื่องกรอบอัตรากำลัง ว่า แต่ละส่วนจะมีตำแหน่งนี้ประมาณเท่าไหร่ อย่างไร ทั้งนี้ เข้าใจว่า ก.พ.จะดำเนินการตามขั้นตอนเลย แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ไม่แน่ใจว่า จะต้องดำเนินการใช้เวลาเท่าไหร่ อย่างไร แต่ทางสภาการสาธารณสุขชุมชนก็จะมีการติดตามขั้นตอนต่อไป รวมไปถึงค่าตอบแทนวิชาชีพ   

 

ข้อแตกต่าง นักสาธารณสุข กับ นักวิชาการสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากนี้นักวิชาการสาธารณสุข จะเรียกว่า นักสาธารณสุข ทั้งหมดหรือไม่ นายอเนก กล่าวว่า ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากยังคงมี “นักวิชาการสาธารณสุข” ซึ่งภาระงานก็จะแตกต่างกันไป แต่เมื่อเป็น “นักสาธารณสุข” จะมีความเฉพาะในการให้บริการต่อระบบสุขภาพคนไทยทั้งหมด 6 มิติที่สำคัญ คือ การตรวจรักษาโรคเบื้องต้น การควบคุมโรค การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ อาชีวอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556  

 

เมื่อถามว่าการได้ตำแหน่ง นักสาธารณสุข คือ ต้องจบหลักสูตรเฉพาะใช่หรือไม่ นายอเนก กล่าวว่า จากนี้ไปตำแหน่งนักสาธารณสุข จะต้องจบหลักสูตรตามที่สภาการสาธารณสุขชุมชนรับรอง ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน นอกจากนี้ ก็จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มตามวิชาชีพสำหรับคนที่ได้ระดับชำนาญการขึ้นไป หรือซี 7 ขึ้นไป ซึ่งสภาฯ จะทำหนังสือเพื่อติดตามเรื่องค่าตอบแทนกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

 

“ปัจจุบันสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชนมีประมาณ 50,000 กว่าคน แต่ที่สอบใบประกอบวิชาชีพนักสาธารณสุขผ่านแล้วมีประมาณ 26,000 คน ซึ่งรวมกลุ่มที่ยังไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือระดับชำนาญการขึ้นไป” เลขาธิการสภาฯ กล่าว

นายอเนก กล่าวอีกว่า มติครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เนื่องจากสภาฯ มีการติดตามการกำหนดตำแหน่งมานานมากราว 10 ปี ซึ่งจริงๆขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2548 และขับเคลื่อนให้เกิด พ.ร.บ.ตั้งแต่ปี 2552 กระทั่งปี 2556 ได้พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน จากนั้นก็ขับเคลื่อนตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งหมดล้วนเป็นการขับเคลื่อนที่ยาวนานเกือบ 10 ปี และหวังว่าทุกอย่างจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะ ก.พ.มีมติเห็นชอบแล้ว เหลือเพียงกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินการตามขั้นตอนของ ก.พ.เท่านั้น

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : สัญญาณดี! หลังมติ อ.ก.พ.วิสามัญฯเห็นชอบหลักการกำหนดตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” แต่ต้องรอขั้นตอนดำเนินการ

แฟ้มภาพ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org