ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ส่งเรื่องถึงแพทยสภา กรณีหลายสถาบันเร่งผลิตแพทย์อาจกระทบคุณภาพ ส่วนเรื่องภาระงานหมอเป็นเรื่องที่ต้องหาทางออกจริงจัง การกระจายแพทย์อย่างเหมาะสมเป็นส่วนหนึ่ง เตรียมทำหนังสือหารือ สธ. กำหนดทิศทางชัดเจน ด้านแพทยสภา ส่งเรื่อง กสพท พิจารณา
ห่วง! หลายสถาบันผลิตแพทย์เพิ่มจำนวนมาก หวั่นเรื่องคุณภาพ
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีทำหนังสือถึงแพทยสภาเรื่อง ขอให้แพทยสภาพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา และสถาบันผลิตแพทย์ รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัด เพื่อคุณภาพ และสมรรถนะของแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ว่า ทราบว่ามีการนำเข้าที่ประชุมของกรรมการแพทยสภา แต่รายละเอียดยังต้องรอผลว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งทางสมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กำลังรวบรวมข้อมูลและคาดว่า เร็วๆนี้จะนำเรื่องเพื่อขอเข้าพบและหารือร่วมกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ถึงทางออกในการบริหารจัดการ การผลิต และการกระจายแพทย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอในการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์ มีข้อห่วงใยการผลิตแพทย์มากเกินไป แสดงว่า ขณะนี้แพทย์มีเพียงพอแล้วหรือไม่ นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า มี 2 มุม หากตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ก็จะมีการกำหนดสัดส่วน ซึ่งประเทศไทย ณ ปัจจุบันมีคณะแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และแต่ละคณะต่างก็เพิ่มจำนวนการผลิต ทำให้มีแพทย์จบใหม่แต่ละปีประมาณ 3,000 คน และมีแนวโน้มว่าจำนวนแพทย์จบใหม่จะมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่หากพูดถึงกรณีบางโรงพยาบาล เพราะเหตุใดจำนวนแพทย์กลับไม่เพียงพอ ก็เป็นเรื่องการบริหารจัดการ ปัญหาการกระจายตัวของแพทย์
“สำหรับหนังสือที่เสนอต่อแพทยสภานั้น มีข้อห่วงใยเรื่องการผลิตมากขึ้น จะมีประเด็นเรื่องคุณภาพ เพราะเมื่อเร่งผลิตมากเกินไป ก็มีเสียงสะท้อนกลับมา แต่อาจไม่ใช่ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย แต่ก็พบว่า การเร่งผลิตมากเกินไปจะมีผลต่อคุณภาพหรือไม่ การตัดสินใจ การดูแลคนไข้อาจไม่ได้ตามที่คาดหวัง ตรงนี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติ เรื่องปริมาณ คุณภาพ ยิ่งวิชาชีพที่เกี่ยวกับสุขภาพประชาชน ตรงนี้จึงต้องให้ความสำคัญ และเราก็ห่วงใยเรื่องนี้” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
เตรียมหารือ สธ. ขอทิศทางผลิต-กระจายแพทย์อย่างเหมาะสม
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องหารือกับภาคส่วนอื่นๆด้วยหรือไม่ ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระบรมราชชนก หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ต้องหารือร่วมกันทั้งหมด ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแพทย์ เราต้องมาคุยกันอย่างชัดเจนว่า จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป จริงๆ ต้องมีการหารือกับแพทย์ผู้ปฏิบัติงานด้วยก็จะช่วยได้มาก เรื่องนี้ต้องจริงจัง
เมื่อถามว่าขณะนี้มีปัญหาภาระงานแพทย์กันมาก การแก้ปัญหาการผลิตแพทย์จะตอบโจทย์หรือไม่ หรือต้องเน้นการกระจายแพทย์ให้เหมาะสม ประธานสพศท. กล่าวว่า การกระจายแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งภาระงานของแพทย์เป็นเรื่องที่คุยกันมานาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม การเร่งผลิตแพทย์ต้องเข้าใจว่า มีส่วนหนึ่งลาออกไปด้วย ทำให้สูญเสียบุคลากรมากอยู่ ตรงนี้ต้องหาทางออกในการป้องกันปัญหาการสูญเสียบุคลากรด้วย ทั้งนี้ ในส่วนสมาพันธ์แพทย์รพศ.รพท.จะมีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีบทบาทสูงเรื่องนี้ ซึ่งเราก็มีข้อมูลบางอย่าง หากได้คุยกันหาทางออกร่วมกัน ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
8 ข้อปัญหาผลิตแพทย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอที่ทาง สพศท. ส่งถึงแพทยสภา ทางเพจเฟซบุ๊กสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ได้โพสต์รายละเอียด ใจความโดยสรุปว่า
1.จำนวนแพทย์โดยรวมในปัจจุบันเพียงพอแล้ว สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก การเพิ่มอัตราผลิตมากเกินไปจะทำให้ขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เป้าหมายอัตรากำลังแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะเพียงพอในระยะเวลาไม่กี่ปี ตำแหน่งบรรจุข้าราชการจะไม่เพียงพอสำหรับแพทย์จบใหม่
2.ควรมีระบบการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ
3.ควรปรับระยะเวลาการฝึกอบรมให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับบริบทระบบสุขภาพไทย ทั้งนี้ ประมาณ 50 ปี หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ของไทยใช้เวลา 7 ปี แต่เนื่องจากความขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรง แพทยสภาจึงลดเวลาฝึกอบรมลงเหลือ 6 ปี เพื่อให้แพทย์ไปทำงานในชนบทได้เร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อปัจจุบันความขาดแคลนแพทย์ไม่รุนแรงแล้ว ก็ควรปรับหลักสูตรฝึกอบรมกลับมาเป็น 7 ปีเช่นเดิม
4.หลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ บางหลักสูตร ลดมาตรฐานในการผลิตลง ได้แก่ หลักสูตรแพทย์ 4 ปี ซึ่งสหรัฐฯ รับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วเข้ารับการฝึกอบรม โดยศึกษาพื้นฐานการแพทย์ 2 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 2 ปี รวม 4 ปี จึงได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากนั้นต้องฝึกงานอีก 1-3 ปี จึงมีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่หลักสูตรที่ไทยนำมาปรับใช้ ลดเวลาศึกษาพื้นฐานการแพทย์เหลือ 1.5 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 1 ปี อีก 1.5 ปี ไปดูเรื่องอื่นๆ เมื่อศึกษาครบ 4 ปีแล้ว สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้เลยโดยไม่ต้องฝึกงาน เป็นการลดมาตรฐาน หรือกรณีหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา เป็นต้น
5.คณะแพทยศาสตร์ที่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์หลายหลักสูตร แต่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาเพียงหลักสูตรเดียว กลับใช้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองแล้วมาประยุกต์ใช้ แล้วถือว่าผ่านการประเมินตามกันไปด้วย แพทยสภาจึงควรรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ทุกหลักสูตรแยกจากกัน
6.ควรมีข้อบังคับสำหรับการรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ต่างประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าหลักสูตรแพทย์ของไทย
7.แพทยสภาควรควบคุมมาตรฐานของหลักสูตร และคณะแพทย์ต่างๆ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ในการรับรองหรือไม่รับรองปริญญา คณะ หลักสูตรใด และยังสามารถควบคุมการเปิดของคณะแพทย์ที่ไม่พร้อม และหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานได้ แ
8.แพทยสภาควรเผยแพร่รายชื่อหลักสูตร และคณะแพทย์ที่ผ่านการรับรอง เพื่อป้องกันปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
9 ข้อเสนอการปรับปรุงกระบวนการหลักสูตรแพทยศาสตร์
ส่วนข้อเสนอเพื่อปรับปรุงกระบวนการขอเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และรับรองสถาบันผลิตแพทย์ ดังนี้
1. การเพิ่มอัตราการผลิตอาจไม่มีความจำเป็นแล้ว และอาจลดการผลิตลงหากประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของแพทยศาสตร์บัณฑิต
2. การประเมินว่าคณะแพทย์ใดจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด ควรใช้ เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555 มาเป็นแนวทางในการพิจารณา หากคณะแพทย์ใดไม่สามารถจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับการผลิตตามเกณฑ์ดังกล่าวได้ ไม่ควรอนุญาตให้เปิดคณะแพทย์นั้น ให้ลดจำนวนการผลิต หรือปิดคณะแพทย์นั้นๆ ไปก่อน
3. การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม ควรกระทำโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯหรือแพทยสภา หรือด้วยแบบทดสอบที่นานาชาติยอมรับ หรือ สอบแข่งขัน
4. ปรับระยะเวลาการฝึกอบรมเป็น 7 ปี โดยฝึกอบรมในสถานศึกษา 6 ปี ฝึกงานในสถานพยาบาล 1 ปี โดยปรับโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นการฝึกงานในสถานพยาบาลภายใต้การกำกับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและปรับการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากหลังรับปริญญา เป็นสอบหลังฝึกงานครบ 1 ปี
5. ขอให้พิจารณาว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต 4 ปี และหลักสูตรแพทยศาสตร์ 2 ปริญญา มีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการลดมาตรฐานการผลิต ควรยกเลิกหลักสูตรแพทย์ 4 ปี และหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา นำนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรปกติ ให้การช่วยเหลือนักศึกษาโดยการเปรียบเทียบหน่วยกิต จากวิชาที่ได้รับการศึกษามาแล้ว
6. คณะแพทย์ที่มีหลักสูตรแพทย์หลายหลักสูตร ทุกหลักสูตรควรได้รับการประเมินโดยแพทยสภาแยกกัน
7. แพทยสภาควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้รับรองคณะแพทย์ต่างประเทศเฉพาะคณะแพทย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือคณะแพทย์ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้รับการรับรองจาก WFME และรับรองเฉพาะหลักสูตรที่มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าหลักสูตรของไทย ทั้งก่อนการสอบเพื่อรับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพเวชกรรมควรฝึกงานในสถานพยาบาลในประเทศไทยก่อนอย่างน้อย 1 ปี
8. แพทยสภายึดถือหลักการไม่อนุมัติให้แพทย์ที่จบจากคณะแพทย์หรือหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา สอบเพื่อรับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยเคร่งครัด
9. แจ้งรายชื่อคณะและหลักสูตรแพทย์ทั้งในและต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง ไปยังกระทรวงศึกษาธิการเป็นประจำทุกปี และทุกครั้งที่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนคณะหรือหลักสูตรแพทย์ที่แพทยสภาให้การรับรอง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดกรรมการแพทยสภาได้มีการประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเสนอส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป
คลิกอ่านรายละเอียด สพศท. เผย 8 ปัญหา พร้อม 9 ข้อเสนอประเด็นผลิตแพทย์
ข่าวเกี่ยวข้อง : สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ชี้ไทยยังต้องผลิตแพทย์เพิ่ม! เหตุภาระงานล้น กระจายตัวมีปัญหา
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3553 views