ปลัดสธ.เผยกรณีองค์การอนามัยโลกยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกของโรคโควิด19 สอดคล้องกับไทยประกาศปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังเมื่อวันที่ 1 ต.ค.65 ขณะที่มาตรการจากนี้แต่ละประเทศจัดการโควิดแบบโรคประจำถิ่น ออกมาตรการแนะนำฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง สวมแมสก์เมื่ออยู่ในจุดเสี่ยงหรือป่วย พร้อมเดินหน้าฉีดวัคซีนพื้นฐานในเด็ก หลังโควิด 3 ปีทำฉีดน้อยลง
ปลัดสธ.เผยไทยปรับ โควิด19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง สอดคล้องประกาศ WHO
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีองค์การอนามัยโลกประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโรคโควิด19 ว่า ตามที่มีข่าวว่า ดร.เท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghrebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกของโรคโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่ประกาศปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้เกิดเหตุการณ์อันตรายอะไร อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยังเน้นย้ำว่า แม้จะยกเลิกเป็นภาวะฉุกเฉินแต่โควิดยังไม่ได้หายไปไหน เรายังต้องรับมือให้ดี
“ปัจจุบันไทยได้ปรับการฉีดวัคซีนโควิด เป็นวัคซีนประจำปี มีระบบเฝ้าระวังและระบบเตือนภัยต่างๆ อย่างช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด เฉลี่ย 10 รายต่อสัปดาห์ แนวโน้มเริ่มคงที่ ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็เริ่มชะลอตัวลง คงไม่เพิ่มมากกว่านี้มากนัก แต่ที่น่ากังวลว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือ ผู้สูงอายุ และคนที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิดเลย” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ดังนั้น ขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 เข้ามารับวัคซีนโควิดในเข็มกระตุ้น ซึ่งตอนนี้ สธ. ได้รณรงค์การฉีดวัคซีนคู่ คือวัคซีนโควิด กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง โดยขณะนี้กรมควบคุมโรค กำลังรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนคู่หลังจากที่ได้คิกออฟไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา
กรมควบคุมโรคเผยแม้ WHO ยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข แต่โควิดยังเป็นโรคประจำถิ่น
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นัยยะขององค์การอนามัยโลก คือ สิ้นสุดการจัดการภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขระดับโลกของโรคโควิด19 แต่ประเทศต่างๆ ยังต้องจัดการกับโควิดต่อในแบบโรคประจำถิ่น รวมทั้งประเทศไทยก็มีการดำเนินการตามแนวทางกำหนดเช่นกัน ซึ่งข้อเท็จจริงโรคโควิดไม่ได้หายไปไหน คล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เคยเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ปรับลดระดับ ดังนั้น เมื่อยุติภาวะฉุกเฉินระดับนานาชาติ ก็จะเป็นการดำเนินการของแต่ละประเทศ
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดมาเป็นระยะ อย่างล่าสุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี2565 ปรับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังซึ่งกำหนดให้โรงพยาบาลรายงานผู้ติดเชื้อทุกสัปดาห์ แนะนำฉีดวัคซีนกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง มีไกด์ไลน์แนวทางการรักษาผู้ป่วยที่กรมการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญแนะนำ แต่เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศออกมา เราก็จะพิจารณาการดำเนินการมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการเดินทางระหว่างประเทศ ที่ไทยปรับมาสู่ระดับใกล้เคียงปกติก่อนมีโควิด กรมควบคุมโรคจะออกเป็นคำแนะนำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
เดินหน้าฉีดวัคซีนพื้นฐานเด็ก หลังช่วงโควิด 3 ปี ฉีดวัคซีนเด็กน้อยลง
“เราก็ยังต้องแนะนำว่า โควิดเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง อาจจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นบางช่วง มาตรการที่แนะนำยังควรปฏิบัติอยู่ ทั้งฉีดวัคซีนโควิดปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด ที่มีคนจำนวนมาก ส่วนเรื่องที่องค์การอนามัยโลกดำเนินการในระดับโลกก็อาจมีการปรับ เช่น เมื่อเป็นภาวะฉุกเฉินก็จะระดมทรัพยากรต่างๆ เช่น วัคซีน ยา เวชภัณฑ์แต่ตอนนี้ก็ผ่อนเรื่องนั้นลงเพราะจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกลดลงมาก ต้องมาจัดการปัญหาสาธารณสุขอื่นๆอย่างที่ผ่านมาเมื่อเกิดโควิดระบาดช่วง 3 ปีก่อน เด็กทั่วโลกพบว่าฉีดวัคซีนพื้นฐานลดลง เพราะมุ่งฉีดวัคซีนโควิด และบางช่วงโรงพยาบาลมีภาระดูแลผู้ป่วยโควิดมากก็ทำให้ไม่ได้ฉีดวัคซีนเด็ก จึงต้องมาดำเนินการฉีดวัคซีนพื้นฐานในเด็กที่ตกหล่นให้ครบโดยเร็ว รวมทั้งประเทศไทย” นพ.โสภณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่ว่าคนจะประมาทมากขึ้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนตระหนักและทราบเรื่องนี้มากขึ้น แต่ทางกรมควบคุมโรคจะมีการย้ำเตือนเป็นระยะ เพื่อให้คงมาตรการที่เหมาะสม
สายพันธุ์ XBB ยังไม่พบป่วยตายเพิ่มทั่วโลก แต่ย้ำกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนประจำปี
เมื่อถามถึงข้อกังวลโควิดลูกผสมอย่าง XBB จะไม่ระบาดรุนแรงใช่หรือไม่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สายพันธุ์ XBB พบที่อินเดียตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นเวลาราว 4 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ระบาดหนัก หรือพบผู้มีอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิตมากมาย ดังนั้น เชื้อนี้ยังไม่ได้ทำให้อัตราป่วยตายเพิ่มขึ้นทั่วโลก เมื่อเทียบกับโอมิครอน ส่วนไทยช่วงสงกรานต์กิจกรรมเยอะ คนเดินทางมากใกล้ชิดกัน ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง 3 สัปดาห์แล้ว แต่ระบบสาธารณสุขไทยยังรับได้ ซึ่งจะต้องติดตามต่ออีกเมื่อจะเปิดเทอมกลางเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ไม่ต้องกังวลว่า จะระบาดรุนแรงเหมือนเมื่อก่อน เพราะคนในประเทศมีภูมิคุ้มกันจากฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ติดเชื้อแล้วมากกว่า 90% แต่ขอให้กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีนประจำปีกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่เคยได้วัคซีนยังเป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุดลูกหลานต้องพามารับวัคซีนโดยเร็ว
การเดินทางจะไม่มีการบังคับตรวจหาเชื้อโควิด หรือดูการรับวัคซีน
ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจน คือ เรื่องของการเดินทางต่อไปจะไม่มีการบังคับตรวจหาเชื้อโควิด หรือตรวจดูการรับวัคซีนอีก ส่วนแนวทางปฎิบัติของคนไทยก็ยังคงปฏิบัติตามปกติเหมือนเช่นทุกวันนี้ เช่น สวมหน้ากากอนมัย ก็ต้องพิจารณาว่าอยู่ในสถานการณ์หรือสถานที่แออัด หรือ ตัวเองป่วยหรือไม่ ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อโควิดเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ที่ต้องพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายสัปดาห์ 23-29 เมษายน 2566 พบว่า พบผู้ป่วยรายใหม่รักษาตัวในรพ. 1,811 คน เสียชีวิต 10 คน มีภาวะปอดอักเสบ 157 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 79คน
ข่าวเกี่ยวข้อง : องค์การอนามัยโลก ยกเลิกภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ของ โควิด19
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 5141 views