อธิบดีกรมการแพทย์ให้นโยบาย 3 เรื่อง “ดูแลผู้สูงอายุ - การแพทย์แม่นยำ -ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” พร้อมเก็บข้อมูล Performance ผู้สูงอายุแต่ละช่วงวัยควรมีสมรรถภาพร่างกายอย่างไร รวมถึงจัดระบบรองรับดูแลคนโสดในอนาคต เมื่อสูงวัยและป่วยประคับประคอง หากไม่มีคนดูแลเล็งใช้ Pet Therapy ช่วยเหลือ

 

ทิศทางการรักษาแอดมิทในรพ.จะลดลง

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่โรงพยาบาลราชวิถี  นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงนโยบายและทิศทางกรมการแพทย์สู่อนาคต ภายในงานประชุมวิชาการ ครั้งที่ 33 ประจำปี 2566 ในหัวข้อ "72nd Anniversary of Rajavithi Hospital : The journey of success" ระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2566 ซึ่งจัดโดย รพ.ราชวิถี  ว่า  ปัจจุบันเราพยายามใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้ในการบริการประชาชน อย่างการลดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยได้มากขึ้น เช่น ระบบแพทย์ทางไกลมาช่วย  อย่างกรณีคนไข้รายใดสามารถดูแลรักษาพยาบาลที่บ้านได้ ก็ให้อยู่บ้าน แต่มีแพทย์พยาบาลติดตามอาการผ่านระบบแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีนเข้ามาช่วย  

คนไข้ไม่ต้องมานอน รพ. แต่รักษาที่บ้านได้  โดยวอร์ดใน รพ.ที่เป็น OPD จะกลายเป็น Home IPD แทน  ซึ่งในอนาคต วอร์ด รพ.จะเล็กลงเรื่อยๆ อย่าง วอร์ดในกรมการแพทย์หลายที่ มะเร็งไม่ต้องแอดมิทนอนในรพ. อีก ทำให้มีเตียงว่าง โดยข้อมูลที่ผ่านมาพบแอดมิทเพียง 60% มารักษาแล้วกลับบ้าน ไม่ต้องนอน รพ. และญาติพี่น้องก็ไม่ต้องมาเฝ้า ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางได้

เก็บข้อมูลภาวะเสื่อมถอยผู้สูงอายุแต่ละช่วงวัย

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องเตรียมการจากที่มีการเตรียมพร้อมอยู่แล้ว คือ การบริการรองรับสังคมผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุมักกำหนดอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ทำไมถึงไม่มีการพิจารณาจาก Performance เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ภาวะเสื่อมถอยถึงเมื่อไหร่ และแบบไหนถึงเรียกว่าเสื่อมถอย   มีใครบอกได้หรือไม่ว่า อายุ 60 ปีทำอะไรได้บ้าง  65 หรือ 70 ควรทำอะไร ดังนั้น จึงต้องมีระบบคัดกรองสุขภาพของผู้สูงอายุแต่ละช่วงวัย ว่า ทำอะไรได้บ้าง ต้องมีกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้ยืดเวลา และลดความเสื่อมถอย

“ที่ผ่านมาเรามักพูดเรื่องเงิน  แต่ไม่ได้มีการพูดถึง Performance ล่าสุดได้มอบให้สถาบันสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ทำการวิจัยในเรื่องนี้ ว่าผู้สูงอายุไทยแต่ละช่วงวัยควรมีสมรรถภาพร่างกายทำสิ่งใดได้บ้าน ซึ่งต้องทำวิจัยด้วยการเก็บข้อมูล 3-5 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นของผู้สูงอายุไทยโดยเฉพาะ เราจะได้รู้ว่าอายุ 60 อายุ 70 ควรทำอะไรได้ เพราะเวลาเราเสื่อมถอย เป็นไปตามวัย แต่บางคนเกินวัยโดยไม่รู้ตัว วันนี้คลินิกผู้สูงอายุ จะไม่เน้นหาโรคอย่างเดียว แต่จะมีการคัดกรองสุขภาพว่า เป็นไปตามวัยหรือไม่ หากเจอโรคก็ส่งรักษา นี่จะเป็นทิศทางที่กรมฯต้องหันมาดำเนินการ  ขอให้หน่วยงานช่วยกันตรงนี้” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

 

การแพทย์แม่นยำ รู้โรคก่อนเป็น

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องผู้สูงอายุแล้ว ยังมีเรื่องการแพทย์แม่นยำ สำคัญมาก มีการพูดคุยกันว่า 3 เรื่องหลักๆที่จะเป็นอนาคต คือ 1.ผู้สูงอายุ  2.การแพทย์แม่นยำ  และ3.ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation)  อย่างเรื่องการแพทย์แม่นยำ ที่จีนมีการเก็บจีโนมคนจีน ซึ่งอนาคตระบบนี้จะมาแน่นอน เราก็ต้องเตรียมพร้อมด้วย ต่อไปเราจะรู้โรคได้อย่างแม่นยำ รู้ได้ก่อน และป้องกันได้ก่อน ยกตัวอย่าง หากเรารู้ว่าจะเป็นเบาหวาน เราสามารถปรับพฤติกรรมการกินก่อนจะเกิดโรคได้

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ต้องบอกว่าทุกวันนี้คนแทบไม่ได้ไปธนาคาร ไม่ต้องถอนเงินสด โอนผ่านระบบดิจิทัลกัน เราต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ปัญหาคือ คนรุ่นเก่าอาจยังไม่ชิน ก็มีการพยายามเรียนรู้ แต่คนรุ่นใหม่เขาเกิดมาพร้อมเทคโนโลยี ในอดีตหมอรุ่นเก่าไม่อยากคีย์ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ แต่วันนี้ไม่ได้แล้ว ต้องมีการใช้เทคโนโลยีทั้งหมด คนที่อยู่ระดับบริหารต้องให้ความสำคัญดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น  โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีรองรับการบริการคนไข้ที่บ้าน ซึ่งสิ่งที่สำคัญต้องทำให้คนไข้อยู่บ้าน แต่เหมือนอยู่ รพ. คือ  เราต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชน อย่าง  เราต้องสื่อสารกับคนไข้ต่อเนื่องจริงๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นให้ได้

เล็ง Pet Therapy ดูแลผู้สูงอายุป่วยประคับประคองอยู่คนเดียว

“ในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care เคยไปดูงานที่รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี นำสัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) ซึ่งอนาคตจะมีคนโสดเยอะ และมักอยู่คอนโดมิเนียม ไม่มีครอบครัว จะไม่มีคนช่วยดูแล สิ่งเหล่านี้จะดูแลเขาอย่างไร ยิ่งหากเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งหากมีสัตว์เลี้ยง ก็อยากให้รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี ฝึกสัตว์เลี้ยงของคนไข้ที่อยู่คอนโดฯคนเดียว ให้สามารถดูแลเบื้องต้นคนไข้ได้” นพ.ธงชัย กล่าว

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตคลินิกเด็กเล็กจะน้อยลง แต่คลินิกผู้สูงอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ และระบบต้องมี โฮมวอร์ด (Home Ward) เพราะทุกคนไม่อยากเดินทาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่อยากอยู่รพ. อยากอยู่กับครอบครัว เราต้องจัดระบบรองรับตรงนี้ด้วย แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นญาติด้วยว่า ระบบการแพทย์จะดูแลได้อย่างดีแม้คนไข้อยู่บ้าน นอกจากนี้ ในเรื่องการวิจัยก็สำคัญ อย่างสมุนไพรที่ถูกสกัดออกมา กลับไม่ค่อยมีใครลงทุนวิจัย จึงเป็นหน้าที่ของกรม ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ มาวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับแพทย์ในการใช้ตรงนี้

ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า  การประชุมวิชาการเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริม พัฒนา และกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพได้มีโอกาสในการนำองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่สู่เวทีสาธารณะ รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพระบบบริการและการดูแลรักษาผู้ป่วย อันจะนำไปสู่การพัฒนาและการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านวิชาการ

โดยในปีนี้มีการเสวนาเชิงวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าของสหวิชาชีพต่างๆ ในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ นโยบายและทิศทางกรมการแพทย์สู่อนาคต , ถอดบทเรียนการบริหารเครื่องมือแพทย์ ผ่านวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน , แนวทางการดูแลรักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างครบวงจร , ยุคใหม่ในการผ่าตัดรักษามะเร็ง โดยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์โรงพยาบาลราชวิถี , ความจำเป็นเพื่อใช้งานกับพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กที่ใส่ประสาทหูเทียม , การใช้เทคโนโลยีดิจิดัลในการให้บริการทางเภสัชกรรม และการเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการ สู่มาตรฐาน ISO 15189 & 15190 เป็นต้น

 

 

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์เดินหน้าจัดทำฐานข้อมูลความเสื่อมถอยแต่ละช่วงอายุของ “ผู้สูงวัย” ครั้งแรกของไทย)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org