ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. แนะผู้ป่วยไตวายรายใหม่ เลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง ชี้ทั้งการล้างไตทางช่องท้องและฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน แต่ถ้าเลือกวิธีที่ไม่เหมาะสมอาจเกิดผลกระทบกับสุขภาพ
วันที่ 13 มีนาคม 2566 นพ.ชุติเดช ตาบองครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี กล่าวถึงภาพรวมผู้ป่วยโรคไตในปัจจุบันว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในภาวะไตเสื่อมเกือบ 8 ล้านคน และที่เข้าสู่การการบำบัดทดแทนไตแล้วประมาณ 150,000 คน โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องเข้าสู่การบำบัดทดแทนไต ปีละ 20,000 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก
ในส่วนของผู้ใช้สิทธิบัตรทองนั้น หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีนโยบายให้ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตได้ โดยพิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้ทำการรักษา พบว่ามีผู้ป่วยที่เลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียมกว่า 50% ของผู้ป่วยรายใหม่เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี นพ.ชุติเดช แนะนำว่าการบำบัดทดแทนไตแต่ละวิธีมีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป ผู้ป่วยควรพิจารณาเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะหากเลือกวิธีที่ไม่เหมาะสมกับตัวเองก็อาจเกิดผลกระทบกับสุขภาพได้
วิธีการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
นพ.ชุติเดช ขยายความว่าวิธีการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังของไทยปัจจุบันมี 3 วิธี คือ 1.การล้างไตทางช่องท้อง (PD) 2.การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) และ 3. การผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต แต่เนื่องจากต้องรับบริจาคไต ทำให้มีปัญหาในการจัดหาอวัยวะแก่ผู้ป่วย
ส่วนวิธีต่อมาคือการล้างไตทางช่องท้อง คนไข้จะถูกวางสายเข้าทางหน้าท้อง กระบวนการล้างไตคือปล่อยน้ำยาเข้าไปในช่องท้องครั้งละประมาณ 2 ลิตร เพื่อแลกเปลี่ยนกับสารละลายของเสียที่อยู่ในร่างกาย แล้วจึงค่อยถ่ายน้ำยานี้ออกมา เฉลี่ยต้องทำวันละ 4 ครั้ง
ข้อดีของวิธีล้างไตทางช่องท้อง
นพ.ชุติเดช กล่าวว่า “ข้อดีของวิธีล้างไตทางช่องท้อง” คือผู้ป่วยได้รับการล้างของเสียทุกวัน สะดวกสบายไม่ต้องเดินทางไปไหน อยู่บ้านก็ทำเองได้ และอัตราการรอดชีวิตในระยะ 2 ปีแรกค่อนข้างดี ส่วนข้อเสียคือต้องมีทีมผู้ดูแล (Care giver) แต่ถ้าคนไข้สามารถทำเองได้ก็ไม่เป็นไร นอกจากนี้จะลำบากในการเดินทางเพราะต้องพกน้ำยาไปด้วยให้เพียงพอกับการใช้งาน และสุดท้ายคือคนไข้จะค่อนข้างกลัวเรื่องการติดเชื้อจนอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีวิธีการที่ใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติเรียกว่า APD ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องสะดวกมากขึ้น เพราะจะทำการล้างไตผ่านทางช่องท้องในช่วงกลางคืน และ สปสช.ก็สนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วย
ส่วนวิธีต่อมา คือการล้างไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม กระบวนการคือคนไข้จะต้องทำเส้นเลือดขึ้นมาสำหรับดึงเลือดออกมาฟอกในเครื่องฟอกไต แลกเปลี่ยนเอาของเสียออกเอา แล้วเอาเลือดดีกลับเข้าไปในร่างกาย โดยใช้เวลาฟอกครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-4 ครั้ง วิธีนี้ข้อดีคือคนไข้สะดวกสบาย ไม่ต้องทำเอง แต่ข้อเสียคืออัตราการรอดชีวิตในระยะแรกค่อนข้างน้อยกว่าการฟอกไตทางช่องท้อง ประการต่อมาคือต้องไปฟอกที่โรงพยาบาล ทำให้ลำบากในการเดินทางไปไหนมาไหน และสุดท้ายคือเนื่องจากต้องดึงเลือดออกมาฟอกข้างนอก ทำให้มีโอกาสที่คนไข้ความดันตกและมีผลเสียอื่นๆตามมา
“ในแง่ประสิทธิภาพประสิทธิผลของการล้างไตทางช่องท้องและการฟอกเลือดไม่ต่างกันมาก ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีอัตราการรอดชีวิตในระยะ 10 ปีอยู่ที่ประมาณ 15% ส่วนผู้ที่ฟอกเลือดจะอยู่ที่เกือบ 20% แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายไตซึ่งมีอัตราการรอดชีวิตในระยะ 10 ปีสูงถึง 40% ดังนั้น ทุกวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกัน สิ่งที่สำคัญคือการให้ความรู้กับคนไข้แล้วเลือกวิธีที่เหมาะสม”นพ.ชุติเดช กล่าว
สปสช. แนะผู้ป่วยไตวายเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะกับตัวเอง
นพ.ชุติเดช ให้คำแนะนำในการพิจารณาเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมว่าจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1. ปัจจัยทางคลินิกของผู้ป่วย เช่น อายุ อายุยิ่งมากความเสี่ยงต่อการฟอกเลือดจะยิ่งสูง เพราะต้องดึงเลือดออกมาข้างนอก ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดความดันต่ำ หัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด นอกจากนี้ยังต้องดูว่าผู้ป่วยมีโรคร่วมหรือไม่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ รวมทั้งยังพิจารณาด้วยว่าผู้ป่วยมีโรคร่วมที่อยู่ในระยะสุดท้ายหรือไม่ เช่น โรคมะเร็ง ตับแข็ง เป็นต้น หากมีโรคร่วมก็เหมาะกับการล้างไตทางหน้าท้องมากกว่า
ปัจจัยที่ 2. ปัจจัยร่วมในมิติอื่นๆ เช่น มิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเดินทาง เพราะหากเลือกวิธีการฟอกเลือดก็ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางอ้อม คนไข้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดีก็จะมีปัญหา และ
ปัจจัยที่ 3. ความพร้อมของญาติ เช่น หากเลือกวิธีการฟอกเลือดก็ต้องให้ญาติขับรถไปส่งเพราะคนไข้ขับรถเองไม่ได้ บางคนขับมาเองแต่ฟอกเลือดเสร็จรู้สึกจะเป็นลม ขับรถกลับไม่ได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตไม่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น โดยบริบทแล้วเหมาะกับการล้างไตทางช่องท้อง แต่คนไข้เลือกวิธีฟอกเลือด แพทย์ก็เคารพการตัดสินใจของคนไข้และญาติ แต่จะอธิบายความเสี่ยงต่างๆ ให้เข้าใจ หากผู้ป่วยและญาติรับทราบและยอมรับความเสี่ยงได้ แพทย์ก็จะทำให้ และโรงพยาบาลก็จะดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงด้วยความระมัดระวังตามไกด์ไลน์ที่กำหนด
การดูแลผู้ป่วยโรคไต
นพ.ชุติเดช กล่าวทิ้งท้ายว่า “การดูแลผู้ป่วยโรคไต” นั้น ต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ต้นน้ำก็คือการป้องกันภาวะไตเสื่อม เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไต ซึ่งทิศทางของ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมวิชาชีพโรคไต ได้ทำโครงการทศวรรษชะลอไตเสื่อม สร้างการตระหนักรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่นำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต อันจะนำไปสู่ภาวะไตเสื่อม โดยมีเป้าหมายทำให้ผู้ป่วยโรคไตมีจำนวนลดลง
ข่าวเกี่ยวข้อง :
รพ.ธัญบุรี เพิ่มบริการผ่าตัดทำเส้นเลือดถาวร ผู้ป่วยไตวาย "สิทธิบัตรทอง" ไม่ต้องรอคิวนาน
ติดตามช่องทางข่าวสารอีกช่องทางของ Hfocus ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 731 views