ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพฯ ยื่นหนังสือ สปสช. ร้องมาตรการชดเชยค่าใช้จ่าย กรณีสำรองจ่ายไปก่อนแล้วหลายล้านบาท จี้หาทางออกให้ได้ก่อนยุบสภา พร้อมยื่นเรื่องถึงพรรคภูมิใจไทย ขอ “อนุทิน” แก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น และให้พรรคการเมืองทุกพรรค มีนโยบายที่ชัดเจนการันตีคนไทยทุกคนต้องได้สิทธิ์เท่าเทียม

ตามที่ก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาสังคมออกมาเรียกร้องให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธาน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ยังไม่ลงนามงบสร้างเสริมสุขภาพ เนื่องจากทางกฎหมายจะทำได้ในส่วนของบัตรทอง แต่สิทธิอื่นไม่ได้ กระทั่งนายอนุทิน ให้สปสช.ให้สิทธิทั้งหมด แต่ต้องทำใหถูกระเบียบออกเป็นกฎหมาย ล่าสุดสปสช.อยู่ระหว่างจัดทำร่างเพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกานั้น

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม 709 สำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ออกมาเรียกร้องให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาได้รับการดูแลการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเท่าเทียม โดยมี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม เป็นผู้แทนภาคีราว 130 องค์กร ร่วมจัดกิจกรรมแสดงออกด้วยการยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ที่พรรคภูมิใจไทย 

สาระสำคัญข้อเรียกร้อง ระบุว่า จากการที่ สปสช. โดยคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ต่อข้อเสนอหลักเกณฑ์และการดำเนินงานการบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ที่เกี่ยวข้องกับ 1) บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2) การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี 3) บริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชนและ 4) บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสิทธิดังกล่าวคุ้มครองคนไทยมานานกว่า 20 ปี แต่ทว่าในปีงบประมาณ 2566 ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ทักท้วงว่า สปสช. ไม่ควรมีอำนาจในการดูแลสิทธิอื่นนอกเหนือจากกลุ่มบัตรทอง ส่งผลให้บริการดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทอง 47 ล้านคนเท่านั้น 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้อาศัยมติคณะรัฐมนตรีในแต่ละปี เพื่อจัดสรรงบประมาณด้านสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพที่ขาดหายไปในสิทธิสุขภาพอื่น ๆ ให้ครอบคลุมคนไทยถ้วนหน้า

ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในนามของผู้ได้รับผลกระทบจากการเสียสิทธิสุขภาพ เห็นว่าการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็น "สิทธิสุขภาพ" ที่ประชาชนได้มาจากเงินภาษีของทุกคน นอกเหนือไปจากสิทธิการรักษาพยาบาล จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรให้ประชาชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยก และหากการส่งเสริมสุขภาพและกลไกการควบคุมป้องกันโรคไม่สามารถเข้าถึงประชาชนไทยได้ทั่วถึงเท่าเทียม ประเทศไทยอาจเข้าสู่วงจรปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในอนาคตได้

ภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงขอเรียกร้องต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และหน่วยงาน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขอให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล  ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเร่งลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเพื่อคืนสิทธิและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้โดยทันที ก่อนการยุบสภาที่จะเกิดขึ้น 

2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดจัดทำ พระราชกฤษฎีกา คืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คืนสิทธิให้ทุกคนในประเทศเพื่อนำไปสู่การพิจารณาให้แล้วเสร็จในสมัยของคณะรัฐมนตรีชุดนี้

3. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมาตรการที่ชัดเจนในการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่หน่วยบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชนได้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจำนวนหลายล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 และทางออกในปีงบประมาณ 2567 หากไม่สามารถดำเนินการในข้อ 1 และ 2 ได้ก่อนยุบสภา

4. ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อรับประกันว่าประชาชนไทยทุกคนจะได้รับสิทธิ์สุขภาพครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

นอกจากนี้ ช่วงบ่ายในวันเดียวกันคณะผู้แทนภาคีทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกคน เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกและจัดกิจกรรมเรียกร้องการคืนสิทธิฯ ให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน ณ ที่ทําการพรรคภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐต้องทำและควรจัดบริการให้ประชาชนคือ "การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา การให้บริการ"  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เคยมีอยู่แล้วและควรทำให้ดีกว่าเดิมต่อไป เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของไทยไม่ถดถอยลงไปมากกว่านี้

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

ทวงคืนสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน

สธ.-สปสช. เสนอร่าง พ.ร.ฎ. ดูแลคนไทยทุกสิทธิ์ แก้ปัญหางบส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน