หญิงไทยป่วย "มะเร็งปากมดลูก" มากเป็นอันดับ 5 ไม่กล้าไปตรวจเพราะอาย กลัวเจอโรคร้าย เชื่อว่าตรวจภายในแล้วเจ็บ หมอย้ำ! มะเร็งปากมดลูกป้องกันง่ายกว่าการรักษา หมั่นตรวจคัดกรอง-ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV
แม้ว่าโรคมะเร็งปากมดลูกจะอยู่ในลำดับที่ 5 มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย แต่ตัวเลขผลสำรวจเผยว่า ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกกว่า 9 พันราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 4 พันราย จากผลสำรวจ Women’s Health APAC Survey ซึ่งเป็นแบบสำรวจความเข้าใจของผู้หญิงในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย ในการตระหนักรู้ มุมมอง และสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในเรื่องของสุขภาพสตรี โดยบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จะเห็นได้ว่า คนไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการตรวจภายใน และมักจะเข้ารับการตรวจก็ต่อเมื่อพบสัญญาณอันตราย ซึ่งอาจจะสายเกินกว่าที่จะรักษาได้หายขาด
ผลสำรวจเผยว่า 61 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงไทยมีความรู้ความเข้าใจในโรคมะเร็งปากมดลูก 39 เปอร์เซ็นต์ แทบจะไม่รู้ ไม่เข้าใจในโรคมะเร็งปากมดลูกเลย ส่วนความมั่นใจว่าจะได้รับการรักษา หากป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก มีมากถึง 83 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิงไทยยังมั่นใจในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ โดยโรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) การมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวก็อาจเสี่ยงติดเชื้อได้ เชื้อ HPV มี 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ สายพันธุ์ 18 มีความเสี่ยงในการพัฒนารอยโรคสูงกว่าผู้หญิงทั่วไป 35 เท่า
ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช หัวหน้างานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ในประเด็น “Women's Health in Thailand - What Can Be Done to Provide Better Care for Women to Achieve Elimination of Cervical Cancer: เหลียวหลังแลหน้าเพื่อหาวิธี พิชิตภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ว่า มะเร็งปากมดลูกระยะแรก จะไม่มีอาการเลย จึงไม่ควรรอให้มีอาการก่อนแล้วค่อยมาตรวจ แต่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 25 ปี สำหรับคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่ถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย ช่วงอายุที่เหมาะสมคือ 30 ปี หรือนับว่าภายหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ 3-5 ปี ให้ตรวจครั้งแรก เพราะจะมีระยะที่เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ติดแล้วอาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้ประมาณ 5-10 ปี ซึ่งมะเร็งปากมดลูกนั้นจะรู้การกำเนิดของโรคได้ชัดเจนกว่ามะเร็งบางชนิด ตรวจพบได้ง่ายกว่า และหากพบอาการผิดปกติควรมาพบแพทย์ในทันที
"สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงไทยไม่กล้ามาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้น เชื่อว่า หากเป็นคนรุ่นเก่าก็จะรู้สึกอาย รู้สึกกลัวจะพบว่า ตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูก บางคนกลัวการรักษา คนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกกล้ามาตรวจให้เจอเร็ว ๆ เพื่อเข้ารับการรักษา จึงอยากให้มองว่า การตรวจภายในเป็นเรื่องปกติเหมือนตรวจร่างกายประจำปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรมาตรวจ สำหรับสัญญาณอันตรายจะตรวจพบได้ในหลายระยะ ตั้งแต่การพบเชื้อ HPV ตรวจพบเซลล์ผิดปกติ ซึ่งมะเร็งปากมดลูกในระยะก่อนมะเร็งจะไม่มีอาการ แต่เมื่อเกิดแผลที่ปากมดลูก หรือเกิดเป็นก้อนขึ้นมา จะพบเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์เพราะไปโดนก้อนเนื้อ เลือดออกที่ไม่ใช่ประจำเดือน หรือมีเลือดออกในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว หากตรวจภายในแล้วเห็นเป็นก้อนว่าเป็นมะเร็งชัดเจน ก็ไม่อยากให้เจอในระยะนี้ ไม่อยากให้รอจนเกิดอาการก่อน" ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว
ส่วนความเชื่อที่ว่า การตรวจภายในนั้นจะรู้สึกเจ็บมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ ย้ำว่า การตรวจภายในใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดหรือคีมปากเป็ด (Vaginal Speculum) ซึ่งมีหลายขนาด แพทย์จะเลือกขนาดที่เหมาะสม หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะใช้ขนาดที่เล็ก แทบไม่เจ็บเลยในตอนที่ตรวจ สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะมีการตรวจแบบ PAP Smear ตรวจทุก 1-2 ปี ซึ่งเป็นการตรวจความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก ความไวในการตรวจพบอยู่ที่ 53 เปอร์เซ็นต์ การตรวจแบบ HPV DNA Test ตรวจทุก ๆ 5 ปี เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ความไวในการตรวจพบ 92 เปอร์เซ็นต์ การตรวจด้วยวิธี HPV DNA ยังมีแบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง HPV Self-sampling อีกด้วย ความแม่นยำมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างจากการตรวจโดยแพทย์
"มะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อ HPV ที่ถ่ายทอดทางเพศสัมพันธ์ ตัวอย่างการป้องกันโรค เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีคู่นอนคนเดียว มีเพศสัมพันธ์ในวัยที่เหมาะสม แต่อยากเน้นเรื่องการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนมากกว่า ผลการสำรวจในต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนมาเป็นระยะเวลาหลาย ๆ ปี ตัวเลขผู้ป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้านการรักษามะเร็งในปัจจุบันมี 3 อย่าง ได้แก่ การผ่าตัดในระยะแรก การฉายแสงในระยะที่ 2-3 และการทำเคมีบำบัด (คีโม) ประคับประคองอาการในระยะ 4 กรณีที่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่น" ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติม
ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ ทิ้งท้ายด้วยว่า ภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกเป็นภารกิจระดับโลก ต้องทำให้ลดลงจนเป็นมะเร็งหายากในที่สุด โดย 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย 1.ให้ความรู้ ทั้งความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกและความรู้เรื่องไวรัส HPV สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก 2.ฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) ซึ่งในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนฟรีในเด็กผู้หญิงที่อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 3.ตรวจคัดกรอง HPV ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนจากการตรวจ Pap Smear เป็น HPV DNA Test และยังมี HPV Self-sampling การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง สำหรับคนที่ไม่สะดวกไปตรวจภายใน ถ้าภารกิจทั้ง 3 ทำได้สำเร็จ เชื่อว่า มะเร็งปากมดลูกจะพบได้ยากในอนาคต จึงอยากย้ำว่า มะเร็งปากมดลูกป้องกันง่ายกว่าการรักษา
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1152 views