กรมอนามัยเปิดตัว 77 สถานประกอบการทั่วไทยช่วยสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ ให้ยาเสริมสัปดาห์ละครั้ง หวังลดปัญหาขาดธาตุเหล็กและโฟเลท  จากเดิมพบภาวะซีด 37% ตั้งเป้าลดเหลือกว่า 10%     ชวนผู้ประกอบการเข้าร่วม ย้ำ! ไม่มีต้นทุน เหตุยาเสริมเป็นสิทธิ์ได้รับฟรี!  ส่วนประเด็นติดขัดกฎหมายงบส่งเสริมสุขภาพหรือ PP นอกบัตรทอง ไม่ต้องกังวล ไม่กระทบสิทธิ์ใดๆ

 

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดงานรณรงค์สาวไทยแก้มแดง ว่า ทุกวันนี้เด็กเกิดน้อยเหลือ 5.4 แสนรายต่อปี ซึ่งเราพยายามชะลอปัญหาตรงนี้ และเมื่อเด็กเกิดน้อยก็ต้องอย่าด้อยคุณภาพ ต้องไปทำตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ โดยมีข้อมูลว่าปัญหาอุปสรรคมี 2 เรื่อง คือ 1.การขาดธาตุเหล็ก หรือมีภาวะซีดพบสูงถึงร้อยละ 30 ทั้งหญิงตั้งครรภ์หรือวัยเจริญพันธุ์ และ 2.หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือตั้งครรภ์ หากขาดกรดโฟเลทจะส่งผลให้ลูกมีโอกาสผิดปกติแต่กำเนิด

ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัยจึงร่วมภาคีเครือข่ายทั้ง สปสช. สสส. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้ประกอบการต่างๆ ส่งเสริมให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ มีธาตุเหล็กและโฟเลท และจำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กและโฟเลท โดยให้ง่ายต่อการเสริมคือรับประทานสัปดาห์ละครั้ง  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตยา สนับสนุนให้เกิดการรับประทานสัปดาห์ละครั้ง ที่สำคัญคือเราปรับรูปแบบร่วมกับภาคีเครือข่าย จากเดิมที่ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ รพ. ก็สามารถรับยาภายนอกเครือข่าย

 

"บางพื้นที่เริ่มมีรูปแบบให้ไปรับที่ร้านสะดวกซื้อ ช่วยส่งเสริมให้ภาวะโลหิตจาง การขาดกรดโฟเลทของหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือหญิงตั้งครรภ์ลดลง ให้การตั้งครรภ์มีคุณภาพ ภาวะโลหิตจางลดลง โอกาสลูกเกิดมาพิการแต่กำเนิดน้อยลง แต่เรายังมีการตรวจเลือดติดตามดูด้วย แต่สิ่งที่ดูได้ง่าย คือ หญิงต้องมีหน้าฝาดมีสีเลือด จึงพยายามส่งเสริมให้หญิงไทยของเราแก้มแดง" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้พยายามสร้างการรับรู้ โดยมีเป้าหมายให้เกิดความครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ การขาดธาตุเหล็กและโฟเลทต้องลดลงร้อยละ 50 จากเดิมภาวะซีดร้อยละ 37 ก็ต้องเหลือร้อยละ 10 กว่า โดยภาวะซีดเล็กน้อยอาจทำให้วิงเวียนเป็นลม ส่งผลต่อการทำงาน แต่หากซีดมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า หญิงวัยเจริญพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในระบบการทำงาน ความร่วมมือสถานประกอบการให้ยาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลทจึงมีความสำคัญ ซึ่งวันนี้ได้เปิดตัว 77 สถานประกอบการทั่วไทยมุ่งสู่สถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ ซึ่งสถานประกอบการเหล่านี้จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย มีหน้าที่ต้องส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุณภาพการทำงาน ที่ผ่านมาเราทำเรื่องการป้องกันการบาดเจ็บจากการทำงาน ตอนนี้เรายกระดับการเพิ่มผลิตภาพ สิ่งที่ทำคือใช้โครงสร้างที่มีบุคลากรคือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) เพียงจัดและส่งเสริมให้มียาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลทในสถานประกอบการให้กินอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งอย่างต่อเนื่อง เรามีการติดตามโดยเยี่ยมสถานประกอบการผ่านกลไก รพ.สต. รพ.ชุมชน รพ.จังหวัด สสจ. หรือศูนย์อนามัย และวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยสุ่มและเฝ้าระวังภาวะโลหิตจางโดยการเจาะเลือด ดูความเข้มข้นของเลือด เช่น เวลาไปฝากครรภ์ หรือสุ่มในฐานประชากรว่าหลังดำเนินการภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เด็กพิการแต่กำเนิดสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่

** เมื่อถามว่าการจัดยาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลท สถานประกอบการต้องจัดมาเองหรือเป็นภาระงบประมาณของสถานประกอบการหรือไม่...  นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ไม่เลย ตรงนี้เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนทุกสิทธิ แม้ตอนนี้อาจมีประเด็นข้อกฎหมายเรื่องงบส่งเสริมสุขภาพในส่วนของนอกบัตรทอง แต่เป็นเรื่องข้อกฎหมายซึ่งมาเคลียร์กันได้ แต่การบริการยังเดินหน้าตามเดิมไม่แยกแยะสิทธิ์ โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนสามารถรับได้โดยไม่มีอุปสรรคทางการเงิน หากมีปัญหาก็ติดต่อ สสจ. ศูนย์อนามัย สปสช.หรือกรมอนามัย

สำหรับสถานประกอบการอื่นที่สนใจเข้าร่วมก็สามารถติดต่อกรมอนามัย โดยเราจะสนับสนุนกลไกการบริหารจัดการ และเสริมการเข้าถึงยา เพียงแค่บอกกลุ่มวัยทำงานไปรับ แต่บางแห่งเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ มีห้องพยาบาล โครงสร้างของกองทุนประกันสังคมก็จะมี รพ.ประจำที่ดูแล ก็เพียงไปเสริมซึ่งกันและกัน โดยสถานประกอบการสามารถติดต่อ รพ.เพื่อรับยาเสริมธาตุเหล็กและโฟเลทมาให้บริการได้โดยรับประทานสัปดาห์ละครั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่าต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย

           

นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากเดิมที่สปสช.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการให้บริการยาเม็ดเสริมธาตเหล็กและกรดโฟลิกไปยังหน่วยบริการแบบเหมาจ่ายแล้วให้หน่วยบริการพิจารณาว่าจะจ่ายให้ใครบ้าง ทำให้เข้าไม่ถึงบริการ แต่ในปี 2566  เป็นปีแรกที่ดึงงบประมาณในส่วนนี้ออกมาจ่ายเป็นการเฉพาะ โดยจัดสรรให้ 80 บาทต่อคนต่อปี  เนื่องจากใน 1 ปี 1 คนจะกิน 52 เม็ดและเป็นการจ่ายครั้งเดียว  แต่ในส่วนของผู้ประกันตนที่ต้องรับบริการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม อาจจะมีความไม่สะดวก เนื่องจากยังไม่สามารถไปรับที่หน่วยบริการเอกชนตามสิทธิ์ได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายของปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)มอบหมายให้หน่วยบริการสังกัดสธ.ต้องให้บริการประชาชนทุกคน ดังนั้น ผู้ประกันตนสามารถไปรับบริการได้ที่หน่วยบริการสธ.ทุกแห่ง

 “ในอนาคต สปสช.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลางและสำนักงานประกันสังคม เพื่อยกร่างกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้ในทุกกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ หากแล้วเสร็จจะทำให้บริการเชิงรุก การเข้าถึงบริการการส่งเสริมป้องกันโรคมากขึ้น”นพ.กฤชกล่าว 

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า  เกณฑ์การคัดเลือกสถานประกอบการสาวไทยแก้มแดงต้นแบบ ได้แก่ 1.มีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมและป้องกันภาวะโลหิคจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือมีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมสุขภาพ 2.มีกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กและโฟเลตสูง 3.หญิงวัยเจริญพันธุ์ในสถานประกอบการได้รับยาเม็ดเสริมธาตเหล็กและกรดโฟลิก และ4.มีการเปรียบเทียบผลตรวจสุขภาพประจำปีของค่าฮีโมโกบิลหรือฮีมาโตคริตในภาพรวมดีขึ้น