จี้รัฐทบทวนนโยบาย มีลูกเพื่อชาติ หวั่นเกิดปัญหาท้องไม่พร้อม เด็กเกิดใหม่ด้อยคุณภาพ แนะดึงชุมชนสร้างค่านิยมดูแลคนสูงวัยในบ้าน ตั้งรับปัญหาเฉพาะหน้าก่อนเพิ่มอัตราการเกิด

เมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นที่สร้างความสนใจให้กับสังคมคงหนีไม่พ้นนโยบายเพิ่มประชากรของรัฐบาลในนาม “โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ” จูงใจให้สาวไทยมีบุตรที่สมบูรณ์พร้อมด้วยการแจกวิตามินโฟลิกและธาตุเหล็กขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ทารกที่แข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัยพร้อมโตเป็นกำลังแรงงานของชาติ

ความตั้งใจดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง และอัตราการตายของทารกแรกคลอดเนื่องมาจากภาวะโลหิตจางของมารดาขณะตั้งครรภ์ ทว่าความตั้งใจดีของรัฐและสาธารณสุขนั้นกลับยังมีข้อกังขาอยู่มาก หลายคนมองว่ารัฐกำลังส่งเสริมให้หญิงไทยเร่งเปิดอู่เพื่อสร้างแรงงานหนุ่มสาวโดยไม่ได้คำนึงถึงมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของหญิงชายที่เป็นความหวังของชาติเหล่านั้น

รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ

เมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายเพิ่มประชากรของรัฐที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ว่า หากรัฐดำเนินการอย่างไม่รัดกุมและรอบด้าน ผลลัพธ์ที่ได้อาจเกิดสถานการณ์หญิงไทยท้องไม่พร้อม มากกว่าได้เด็กเกิดใหม่ที่มีคุณภาพ

สร้างแรงงานคุณภาพ ไม่ใช่แค่แจกวิตามิน

รศ.วิพรรณ อธิบายถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างประชากรเกิดใหม่ให้ได้คุณภาพว่า ไม่สามารถพิจารณาเฉพาะเงื่อนไขทางวิทยาศาสตร์ หรือโภชนาการของมารดาเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันค่านิยมทางสังคมมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ผู้หญิงไม่ต้องการมีบุตร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บทบาทของหัวหน้าครอบครัวที่ไม่ได้ผูกขาดอยู่เพียงพ่อหรือสามี หลายครอบครัวผู้หญิงมีบทบาทเทียบเท่ากับผู้ชาย ตั้งแต่ทำงานนอกบ้านจนถึงดูแลความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว

ในทางกลับกัน สำหรับครอบครัวที่ฝ่ายชายยังกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือเป็นผู้หาเลี้ยงหลักเพียงคนเดียวนั้น การมีบุตรเพียง 1 คนถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก โดยเฉพาะในครอบครัวที่รายได้รวมอยู่ไล่เรี่ยกับเส้นความยากจน การมีบุตรที่ร่างกายสมบูรณ์พร้อมจากวิตามินโฟลิกนั้นไม่ได้หมายความว่าในอนาคตเด็กที่เกิดมานั้นจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะอย่าลืมว่าพวกเขาต้องได้รับการดูแลทางด้านการศึกษาและสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมานั้นพบว่ายังมีเด็กอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

“การแก้ปัญหาจึงต้องทำทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษาต้องทำให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพ นโยบายส่งเสริมการเกิดวันนี้ จึงยังไม่สามารถสร้างแรงงานที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นได้อย่างที่หวังไว้” รศ.วิพรรณกล่าว

สร้างค่านิยมดูแลผู้สูงวัยให้เยาวชน

แม้การสร้างกำลังแรงงานที่มีคุณภาพจากเด็กเกิดใหม่ในวันนี้จะยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาตกผลึกกันอีกสักระยะ และกว่าที่เด็กๆ เหล่านั้นจะโตพอเป็นกำลังสำคัญของชาติอาจต้องใช้เวลาถึง 15 ปี แต่ก็นับเป็นนโยบายที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นแล้วและยังรอท่าไม่ได้คือ ประชากรสูงอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในทุกวัน

รศ.วิพรรณ กล่าวถึงการรับมือกับสังคมสูงวัยในขณะนี้ว่า ณ ตอนนี้เราควรกลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้เด็กที่เกิดมาแล้วมีทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงอายุในชุมชน เป็นได้ได้หรือไม่ว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องช่วยกันสร้างค่านิยมดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้กับพวกเขา เพื่อที่ในอนาคตเราจะมีต้นทุนที่ดีเป็นตาข่ายรองรับสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึง โดยไม่ต้องตั้งต้นใหม่กับเด็กที่ยังไม่เกิดมา

“เรื่องนี้เป็นจุดแข็งอย่างมาก เพราะในต่างประเทศเขาไม่มีค่านิยมตรงนี้ แต่เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราอยู่แล้วซึ่งต้องรักษาไว้” รศ.วิพรรณ กล่าวเสริมทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับที่ นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ผู้จัดการโครงการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะสังคมสูงวัยกล่าวถึงความสำคัญของการปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับสังคมสูงวัยให้กับเยาวชนว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของการเตรียมความพร้อมให้กับพวกเขาที่จะเป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้า เพราะสิ่งสำคัญคือการเริ่มต้นสร้างทัศนคติตั้งแต่ยังเด็ก หลายครั้งที่การรับมือกับวัยชราเกิดขึ้นอย่างไม่ทันท่วงทีเพราะกว่าที่จะเริ่มเรียนรู้และทำความเข้าใจก็เป็นช่วงเวลาทีกำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณ