จุฬาฯ ลงนามร่วมกับ สสส. และอีก 15 หน่วยงาน ลุยโครงการจุฬาอารี สานพลังเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เผยทำวิจัยเชิงรุกต่อยอดขยายผล “สุขภาพ-เศรษฐกิจ-สังคม-นวัตกรรม” ให้เห็นผลรูปธรรมภายใน 3 ปี
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสานพลังเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ 16 หน่วยงาน อาทิ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยใช้เวลาดำเนินการเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายใต้โครงการ “จุฬาอารี” (Chulalongkorn University Platform for Ageing Research Innovation-Chula ARI) ที่จะบูรณาการสรรพศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก
ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดำเนินการในช่วง 3 ปีแรก จะเน้นกิจกรรม 5 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมี รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ เป็นหัวหน้าโครงการจุฬาอารี ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพอย่างดียิ่ง ทำให้เกิดผลวิจัยเชิงนโยบาย เช่น การจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 3 เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานด้านผู้สูงอายุในระยะยาวอย่างบูรณาการเชิงรุก และนโยบายการวางแผนชีวิตครอบครัว และการเกิดที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำเสนอข้อมูลและผลการวิจัยเชิงสาธารณะ ขณะที่ในเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ จะเน้นการพัฒนาและขยายผลเมืองต้นแบบที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เพื่อให้ในอนาคตผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยเน้นที่ผู้สูงวัยในสังคมเมืองก่อน และคาดหวังผลเชิงรูปธรรมสามารถนำข้อมูลไปใช้จริง เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมวงกว้าง
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่าย สนับสนุนความร่วมมือภายใต้โครงการจุฬาอารี ทั้งการหนุนเสริมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งโครงการจุฬาอารีมีการดำเนินงานในการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนในพื้นที่สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เขตห้วยขวาง และเขตวังทองหลาง โดยสสส.พร้อมที่จะหนุนเสริมเติมเต็มการดำเนินงานของโครงการจุฬาอารีในช่วง 3 ปีต่อไปจากนี้ตามภารกิจที่เกี่ยวข้อง และจะขยายผลรูปแบบการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ของ กทม. โดยเฉพาะชุมชนบริเวณโดยรอบ สสส.อีกด้วย
นางภรณี กล่าวต่อว่า สสส.ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายได้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่เขตชุมชนเมือง เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตและเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพทั้งการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งจนเกิดเป็นเครือข่ายผู้สูงอายุและร่วมขับเคลื่อนงานในพื้นที่ประเด็นต่าง ๆ ทั้งด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น กิจกรรมทางกาย โภชนาการ การดูแลสุขภาพ การจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการ บวร การปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ และความมั่นคงทางรายได้เมื่อยามสูงวัย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
- 19 views