จริงหรือไม่! คน 6 กลุ่มมีความเสี่ยงโรคลมแดดมากกว่าคนทั่วไป สัญญาณแบบไหนเตือนว่า ร่างกายกำลังเป็นฮีทสโตรก

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารในสังคมออนไลน์เรื่องคน 6 กลุ่ม ที่มีความเสี่ยงเป็นฮีทสโตรกมากกว่าคนทั่วไป ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป มี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย 2. เด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง 4. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก 5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ และ 6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว ไปออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิต

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำสำหรับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ดังนี้ 1. สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี 2. ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 3. เลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนาน ๆ 4. สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง 5. ควรดื่มน้ำ 2 – 3 ลิตรต่อวัน เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย 6. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 7. ผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก อย่างไรก็ตาม 6 กลุ่มเสี่ยง ที่ต้องระวังป่วยโรคฮีทสโตรกจากอากาศร้อน ต้องดูแลสุขภาพของตนเองและหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ระบุว่า โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน พบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ สำหรับสัญญาณอันตราย ที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังประสบปัญหา ได้แก่

  • รู้สึกผิดปกติ
  • ปวดศีรษะ
  • หน้ามืด
  • กระสับกระส่าย
  • ซึม
  • สับสน
  • ชัก
  • ไม่รู้สึกตัว

ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเกิดโรคลมแดด ควรเลือกเวลา ที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ 

หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ซึ่งมีอันตรายมาก นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษ ที่มีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

เมื่อพบเห็นผู้ป่วยโรคลมแดดควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือหมดสติ สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อพบผู้มีอาการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน ให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น และอยู่ในที่ระบายอากาศได้ดี คอยสังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้นควรพาไปพบแพทย์ทันที

 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org