ผอ.รพ.ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ร้อยเอ็ด คิดค้นระบบ “QR code” เก็บข้อมูล “อุณหภูมิ-สี” ปัสสาวะทหารใหม่ระหว่างการฝึก ช่วยเฝ้าระวังลมแดดต้นเหตุการเสียชีวิต เจ๋ง! สามารถช่วยลดค่าใช้การดำเนินการได้มากถึงผลัดละ 1 แสนบาท
พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ ลิ้นทอง
พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ ลิ้นทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีมาลดภาระงานและประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีแพทย์เพียง 3 คน มีพยาบาล 8 คน แต่ต้องดูแลกำลังพล 1,200 นาย ซึ่งแน่นอนว่าภาระงานมีมากเกินกว่ากำลังเจ้าหน้าที่
พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงที่มีทหารใหม่เข้าประจำการ ต้องลงพื้นที่ไปตรวจสีและอุณหภูมิของปัสสาวะทั้งตอนเช้า เที่ยง และเย็น การทำงานที่ผ่านมาคือต้องให้ลูกน้องขับรถไปยัง จ.ยโสธร วันละ 3 รอบ รวมๆ 420 กิโลเมตร เฉลี่ยแล้ว 1 ผลัด หรือประมาณ 2 เดือนครึ่ง ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับค่าเดินทางร่วมๆ 1 แสนบาท
พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดแก้ปัญหาด้วยระบบออนไลน์ โดยปัจจุบันได้นำรูปแบบ “QR code” เข้ามาปรับใช้ สำหรับจัดเก็บข้อมูลสีและอุณหภูมิปัสสาวะ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลของครูฝึก ลดการทำงาน และข้อมูลมีความแม่นยำเป็นอย่างมาก
สำหรับนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมานี้ใช้งบประมาณไม่มาก ไม่ได้ไฮเทคหรือซับซ้อนอะไร เนื่องจากต้องการให้หน่วยงานอื่นๆ นำไปใช้ต่อได้ โดยทหารจะมี “QR code” ข้อมูลประวัติส่วนตัว ครูฝึกและเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการลงข้อมูลตามระบบ เมื่อสแกนข้อมูลแล้วข้อมูลก็จะวิ่งไปยังหน่วยจัดเก็บข้อมูล ซึ่งมีการประมวลผลในรูปแบบต่างๆ
“สีและอุณหภูมิของปัสสาวะ ระบบจะประมวลผลเป็นสีเขียว เหลือง แดง คือเขียวเป็นอุณหภูมิปกติ เหลืองคือมีความเสี่ยงต้องเฝ้าดู และแดงคืออันตรายต้องหยุดการฝึก ตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องลมร้อน ลมแดด ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกำลังพลเสียชีวิตจากอุณหภูมิในร่างกายสูงมาก ยกตัวอย่างร่างกายเหมือนหม้อต้มและสมองเหมือนกับเต้าหู้ ถ้าเราต้มเต้าหู้ไปนานๆ เต้าหู้ก็สุก เช่นเดียวกันคือหากร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากๆ สมองก็สุกได้เช่นกัน ดังนั้นการรู้ล่วงหน้าจะช่วยให้กำลังพลมีความปลอดภัย ในขณะที่ครูฝึกก็สามารถฝึกได้โดยไม่ต้องกังวล” พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าว
พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า คอนเซ็ปต์ในการใช้ “QR code” เพื่อดึงกลุ่มเสี่ยงออกมาก่อนที่จะป่วย เช่น เมื่อเริ่มมีไข้ สีปัสสาวะเริ่มเข้มขึ้น ก็จะมีระบบแจ้งเตือนไปยังครูฝึกว่าทหารรายใดมีแนวโน้มที่จะป่วย ให้แยกคนเหล่านั้นออกมา อย่าเอาไปฝึก ไม่ใช่ต้องรอให้เขาสลบก่อนแล้ววิ่งเข้าไปรักษาจะไม่ทันท่วงที
สำหรับการทำงานของ “QR code” อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ก่อนที่ทหารจะเข้าสู่กรมกอง ก็จะมีเลข 13 หลัก บัตรประชาชน เจ้าหน้าที่ก็จะไปรับหน้าหน่วยเลยว่า นายทหารชื่อนี้ มีเลขประจำตัวนี้ จะได้รับ “QR code” แจก คล้ายกับสมุดพกที่บรรจุข้อมูลเอาไว้ วิธีการใช้งานก็คือใช้โทรศัพท์มือถือสแกน “QR code” เหล่านั้นได้ทันที ข้อมูลก็จะวิ่งไปสู่การประมวลผลและวิเคราะห์ให้เห็นอย่างชัดเจน
“ในอดีตครูฝึกจะเป็นคนเขียนข้อมูลเหล่านั้น เช่น ทหาร 200 คน ต้องเขียนข้อมูลถึง 600 ครั้ง นั่นหมายถึงความแม่นยำของข้อมูลที่อาจจะคลาดเคลื่อน และใช้เวลานานมาก ถามว่าคนบันทึกข้อมูลต้องทำงานทุกวัน 10 สัปดาห์ติดๆ ใครจะอยากทำ สุดท้ายข้อมูลอาจจะถูกทำขึ้นมาอย่างฉาบฉวย แต่โปรแกรมนี้ใช้เวลาไม่เกินคนละ 1 นาที ซึ่งจากเดิมต้องใช้เวลาบันทึกข้อมูลกว่า 1 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันใช้เวลาแค่ 10 นาที คือใช้สมาร์ทโฟนยิงๆ แล้วก็เสร็จ” พ.อ.นพ.ชูศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่พัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นมาช่วยลดค่าใช้จ่ายหลักแสนบาทเหลือเพียงหลักพันบาทเท่านั้น โดยผลัดล่าสุดจากเดิมเคยใช้น้ำมัน 1 แสนบาท เหลือเพียง 5,000 บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าสามารถประหยัดเงินได้ถึงผลัดละ 1 แสนบาท
- 176 views