กรมการแพทย์ ชี้สภาวะอากาศร้อนจัด อุณหภูมิอาจสูงสุดเกิน 40 องศาเซลเซียส คนงานก่อสร้าง ผู้ทำงานกลางแจ้ง ต้องระวังสุขภาพร่างกาย สมาธิเสีย เสี่ยงอุบัติเหตุ เตือน! โรคที่เกิดจากความร้อน เช่น ข้อเท้าบวม ผื่นแดด ตะคริวแดด เพลียแดด และลมแดด หากมีอาการผิดปกติควรหลบเข้าร่ม คลายเสื้อผ้าให้ลมผ่าน ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี ย้ำ! นายจ้างไม่ควรให้ทำงานในที่แจ้งนาน ๆ หลีกเลี่ยงช่วงบ่ายที่อากาศร้อนจัด
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เตือนประชาชนระมัดระวังสภาวะอากาศร้อนจัด ทุกภาคของไทยมีโอกาสอุณหภูมิสูงสุดเกิน 40 องศาเซลเซียส ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทําให้เกิดภัยและโรคที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะคนที่ทำงานในที่แจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง หรือคนงานในเหมืองหินเปิด อากาศร้อนจะมีผลต่อสุขภาพในแง่ลบ นอกจากอาการทางกายแล้ว การทำงานในที่มีอากาศร้อนจะทำให้สมาธิเสีย และไม่สามารถทำงานที่ใช้ความชำนาญได้เต็มที่ ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย คนปกติจะมีปฏิกิริยาต่อความร้อนคล้าย ๆ กัน แต่ในผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต หรือในคนอ้วน จะมีความทนต่อความร้อนได้น้อยกว่า
โรคที่เกิดจากความร้อน ได้แก่ การบวมที่ข้อเท้าเนื่องจากเส้นเลือดที่ผิวพยายามขยายตัวเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้ใส่รองเท้าคับขึ้น เป็นผื่นแดด เกิดจากรูเหงื่อที่ขุมขนถูกปิดกั้น อาการที่รุนแรงขึ้นคือเป็นตะคริวแดด เกิดจากการเสียสมดุลของเกลือแร่จากการที่มีเหงื่อออกมาก อาการที่ต้องระวังคืออาการเพลียแดด ซึ่งเกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปมาก โดยจะมีเหงื่อออกมาก ตาพร่า กระหายน้ำมาก เพลีย มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หายใจลำบาก ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ต้องระวังเพราะจะกลายเป็นลมและเป็นลมแดดได้อย่างรวดเร็ว การเป็นลมแดดหรือฮีทสโตรค คือการที่ร่างกายขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง และอวัยวะอื่น ๆ จากความร้อนโดยอาการที่เป็นมากคือตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อ ระยะนี้อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งประชาชนจะต้องสังเกตตัวเองตั้งแต่เริ่มมีอาการเพลียแดดดังกล่าว ต้องหยุดการทำงาน และหลบเข้าร่ม คลายเสื้อผ้าให้ลมผ่านตัว หรืออาบน้ำเย็น
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเสริมว่า ผู้ที่ควรตระหนักถึงปัญหาสำคัญนอกจากผู้ที่ทำงานกลางแจ้งแล้วยังรวมถึงนายจ้าง ผู้จ้างงาน ไม่ควรให้ลูกจ้างทำงานในที่แจ้งนาน ๆ หรือทำงานในที่ซึ่งมีความร้อน ทั้งนี้ ให้ใช้กฎกระทรวงเรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 ไม่ควรให้ลูกจ้างที่อายุมาก หรือมีโรคประจำตัวทำงานกลางแจ้ง หรือในสถานที่ร้อน เช่นบริเวณหลอมเหล็ก หรือการระบายอากาศไม่ดีนานเกินไป ควรมีการบริหารจัดการผลัดเปลี่ยน มีน้ำเย็นให้ดื่ม มีพัดลมระบายอากาศ และไม่ควรทำงานกลางแจ้งในเวลาบ่าย ซึ่งเป็นเวลาที่อากาศร้อนจัด
- 149 views