อุทาหรณ์เด็ก 6 ขวบประสบอุบัติเหตุพุ่งออกนอกรถตกทางด่วน ชี้รถยนต์ไม่ได้เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ เพราะคาดเข็มขัดนิรภัยไม่ได้ ต้องใช้ที่เหมาะสม  ดังนั้น ผู้ขายไม่ควรโฆษณาอ้างรถครอบครัว ว่า มีความปลอดภัย แนะต้องมีระบบยึดเหนี่ยวเพิ่มเติม หรือที่นั่งนิรภัยหรือที่นั่งเสริม อย่าโฆษณาเกินจริง พร้อมขอให้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคลงไปตรวจสอบเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "ม.มหิดลห่วงใยเด็กปลอดภัยเมื่อใช้คาร์ซีท" ว่า จากกรณีข่าวพ่อขับรถกระบะป้ายแดงเกิดอุบัติเหตุชนขอบทางด่วนอย่างแรง ส่งผลให้ลูกอายุ 6 ขวบ ตกทางด่วนเสียชีวิต ต้องของแสดงความเสียใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความปลอดภัยของเด็กที่โดยสารรถยนต์นั้น ปัจจุบันมีการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 5 ธ.ค. 2565 กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ใช้ที่นั่งนิรภัยตั้งแต่แรกเกิด และเด็กความสูงต่ำกว่า 135 ซม. ซึ่งเป็นความสูงเฉลี่ยของเด็กอายุ 9 ปี ต้องใช้ที่นั่งเสริมหรือเข็มขัดนิรภัยขึ้นกับอายุของเด็ก แม้จะมีข้อกฎหมายออกมาแล้ว แต่ต้องขอทำความเข้าใจกับสังคมว่า ที่นั่งนิรภัยหรือที่นั่งเสริมมีความจำเป็น

 

"เมื่อรถเคลื่อนตัวมาด้วยความเร็วระดับหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนแปลงความเร็วกระทันหัน เช่น 80-100 กม./ชม. แล้วเปลี่ยนเป็น 0 จากการชน เบรก กระแทกต่างๆ ทั้งสิ่งของและคนในรถจะเคลื่อนที่ต่อด้วยความเร็วเท่าเดิม ทำให้เด็กยังเคลื่อนตัวต่อด้วยความเร็วเท่าเดิม คือ 80-100 กม./ชม. ก็จะเหินลอยชนโครงสร้างรถยนต์ทะลุกระจกออกนอกรถ นี่คือสิ่งที่เห็นตลอดที่เกิดอุบัติเหตุ จะเห็นภาพเด็กอยู่นอกรถยนต์ ถ้าไม่ต้องการให้กระเด็นออกนอกรถ ต้องมีระบบยึดเหนี่ยว ซึ่งรถยนต์ทุกประเภทมีระบบยึดเหนี่ยวที่เป็นมาตรฐานระบบเดียวคือ เข็มขัดนิรภัย" รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม เข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ทุกรุ่นทุกประเภท ไม่สามารถใช้ได้สำหรับเด็กที่สูงน้อยกว่า 135 ซม.หรือ 9 ขวบ จึงไม่สามารถโฆษณาว่าเป็นรถครอบครัวได้ตราบใดที่ไม่แนะนำให้มีระบบยึดเหนี่ยวเพิ่มเติม หรือที่นั่งนิรภัยหรือที่นั่งเสริม ผู้ขายมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องบอกผู้บริโภคว่าสินค้าชิ้นนี้ไม่เหมาะเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีหรือสูงน้อยกว่า 135 ซม. หากโฆษณาว่าเป็นรถครอบครัวถือว่าผิด ต้องขอให้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคลงไปตรวจสอบเรื่องนี้ สำหรับที่นั่งนิรภัย/ที่นั่งเสริม กรณีเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ จะเป็นแบบที่นั่งที่หันไปด้านหลังรถ มีระบบยึดเหนี่ยวตัวเด็กและยึดที่นั่งกับตัวรถ อายุ 2-6 ปี จะเป็นแบบหันไปด้านหน้ารถ มีระบบยึดตัวเด็กและยึดที่นั่งกับรถ ส่วนอายุ 4-11 ปี จะมีแบบที่นั่งเสริม ที่ใช้เข็มขัดนิรภัยล็อกเด็กไปพร้อมกับที่นั่ง

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวว่า สำหรับรถกระบะหรือปิกอัปที่ไม่มีที่นั่งตอนหลังจะทำอย่างไร ถ้านำที่นั่งนิรภัยมาติดตั้งตอนหน้า สามารถติดตั้งได้ แต่จะต้องไม่มีถุงลมนิรภัยด้านข้างคนขับ หรือเป็นรุ่นที่ปิดการทำงานได้ เพราะหากวางที่นั่งนิรภัยลงไป จะเสมือนแม่อุ้มลูกนั่งบนตัก เมื่อถุงลมระเบิดออกมาจะกระแทกตัวเด็กที่นั่งบนที่นั่งนิรภัย ซึ่งระยะห่างจะน้อยกว่า 25 ซม.ที่เป็นระยะที่ปลอดภัย ทำให้เด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ ซึ่งเคยพบเสียชีวิตจากกรณีเช่นนี้ถึงอายุ 13 ปี ส่วนกรณีติดตั้งไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าจะห้ามเอารถมาขับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูก จึงแนะนำให้ปฏิบัติลดความเสี่ยง โดยการขับชิดซ้าย ใช้ความเร็วจำกัด

 

"การกำหนดให้ใช้คาร์ซีทเป็นกฎหมายแบบละเมิดสิทธิ แต่เป็นการใช้อำนาจเพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่จะต้องไม่เป็นภาระให้ประชาชนด้วย ดังนั้น รัฐจึงได้ลดภาษีนำเข้า ทำให้ราคาในท้องตลาดลดลงต่ำมาก ในระดับมาตรฐานพอใช้ได้ ราคาพันกว่าบาท หากเทียบกับราคารถยนต์แล้วต่างกันมาก แต่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมสนับสนุนประชาชนเข้าถึงมากขึ้น" รศ.รพ.อดิศักดิ์กล่าว