มะเร็งเต้านมไม่เพียงเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่จากข้อมูลสถิติยังบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ต้องถูกตัดหน้าอกในวัยก่อนเกษียณอาจได้รับผลกระทบต่อจิตใจและการใช้ชีวิต แม้ทุกวันนี้วิวัฒนาการรักษาจะก้าวหน้าขึ้นมาก สามารถศัลยกรรมเสริมสร้างหน้าอกใหม่ได้ไม่ยาก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะแบกรับค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยก็ไม่ครอบคบุมถึงเรื่องนี้
ในฐานะศัลยแพทย์เต้านมเฉพาะทาง และเจ้าของเพจ ‘หมออู๋ ธีรภพ Ideal Breast’ ซึ่งเห็นปัญหาดังกล่าวมาตลอด 10 ปี นายแพทย์ธีรภพ ไวประดับ จึงริเริ่มโครงการ ‘ผ่าตัดผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย’ เพื่อช่วยให้คนไข้ที่ต้องตัดเต้านมทิ้งกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิมได้
“ในมุมของผู้หญิงการถูกตัดหน้าอกออกไป ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่จะรู้สึกขาดความเป็นผู้หญิง ยังรู้สึกป่วยอยู่แม้จะหายจากมะเร็วแล้วก็ตาม บางคนเสียความมั่นใจ บางคนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เราได้รับรู้ถึงปัญหานี้มาตลอด” หมออู๋ เล่าให้ฟังถึงที่มาและปัญหาที่ได้รับเสียงสะท้อนมาจากคนไข้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้กลับมามีหน้าอกเหมือนปกติจึงเป็นสิ่งจำเป็น เรียกว่าการผ่าตัดเสริมสร้าง มีด้วยกันหลายเทคนิก แต่หนึ่งในเทคนิกที่นิยมอย่างมากคือการเสริมสร้างด้วยซิลิโคน ทว่าสิทธิการผ่าตัดรักษาของรัฐบาลไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ นั่นหมายความว่าคนไข้จะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าซิลิโคนเอง ในราคาหลักหมื่น!
ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างศัลยกรรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ซิลิโคนราคาหลักหมื่นอาจดูไม่มากมายสำหรับใครหลายๆ คน แต่กับคนไข้ที่ขัดสนหรือคนต่างจังหวัดที่มีเงินเดือนประมาณ 8,000-12,000 บาท หมออู๋เชื่อว่าค่อนข้างลำบากทีเดียว บวกกับความตั้งใจอยากรักษาคนไข้ในต่างจังหวัดให้เหมือนกับที่รักษาในกรุงเทพ จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งคุณหมอใช้วันหยุดไปเป็นแพทย์อาสาให้ทุกๆ 2 สัปดาห์เพื่ออยากนำความรู้ความสามารถไปช่วยบ้านเกิด ทำโครงการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมในผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ที่ต้องตัดเต้านมทิ้ง) ให้ฟรีสำหรับผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงการรักษาตลอดปี 2566
“ผมเริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เป็น 5 เคสนำร่อง ทั้งหมดฟรีทุกอย่าง ทั้งค่าผ่าตัด ค่าซิลิโคน ค่าตาข่าย ค่าทีมแพทย์ ทุกเคสผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่าตัดที่โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ซึ่งดูแลหลายจังหวัดในภาคกลางอยู่แล้วและต้องใช้ซิลิโคนในการเสริมสร้างตลอดปีนี้ ผมจะออกค่าซิลิโคนให้ทั้งหมด ทั้งที่ตรวจกับผมเองและหมอคนอื่น”
ไม่เพียงแค่นั้นคุณหมอยังมีโครงการบริจาคซิลิโคน 30 ชิ้นให้กับศัลยแพทย์เต้านมที่มีเคสผ่าตัดเสริมสร้างให้กับคนที่ไข้ที่ขัดสนในต่างจังหวัดทั่วประเทศ คาดจะเริ่มช่วงกลางปีนี้
นอกจากประโยชน์ที่จะตกกับผู้ป่วยแล้ว เป้าหมายของโครงการนี้คือต้องการส่งต่อประสบการณ์ให้กับน้องๆ ศัลยแพทย์เต้านมให้มีความชำนาญมากขึ้นจากประสบการณ์เคสผ่าตัด เมื่อที่ผ่านมาแพทย์หลายคนจบมาไปอยู่ต่างจังหวัด มีศักยภาพทำได้แต่คนไข้ไม่มีกำลังจ่ายทำให้ทางเลือกในการเสริมสร้างเต้านมในผู้ป่วยมะเร็งถูกตัดออกไป อย่างน้อยการบริจาคซิลิโคนให้แพทย์ในต่างจังหวัดได้ผ่าตัดเสริมสร้างให้ผู้ป่วยก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ เพิ่มความชำนาญมากขึ้น ส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุขส่วนรวมในอนาคต
เสริมสร้างเต้านมในผู้ป่วยคือคุณภาพชีวิต ไม่ใช่เรื่องความงาม
ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ถูกตัดหน้าอกและคุณหมอแนะนำให้ต้องเสริมสร้างด้วยซิลิโคน แต่มีความขัดสน สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ทางเพจ หมออู๋ ธีรภพ Idel Breast หรือรับการผ่าตัดที่รพ.มะเร็งลพบุรี โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดกับคุณหมอโดยตรง เพราะคนไข้มีสิทธิรักษาฟรีสำหรับค่าผ่าตัดอยู่แล้ว แต่ผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกินใด เช่น ค่าซิลิโคน เพราะคุณหมอจะช่วยรับผิดชอบให้แทน และบางรายเป็นเคสที่รอไม่ได้ ขณะที่คุณหมอเองอาจไม่มีคิว
“ผมอยากจุดประกายให้รัฐบาลเห็นความสำคัญในเรื่องการเสริมสร้างเต้านมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมว่าเป็นสิ่งจำเป็น เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไข้ ไม่ใช่เรื่องความสวยงาม ปัจจุบันการรักษามะเร็ง เรารักษาทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างคนไข้ที่โดนตัดหน้าอกออกไป มีผลกระทบในชีวิตอย่างมาก แต่คนไทยไม่ค่อยพูดเรื่องนี้กัน บางคนส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว บางคนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า ชีวิตเขาเปลี่ยนไปไม่มีความสุข”
“ผมมองว่านี่คือการเติมเต็มคืนสภาพเดิมให้พวกเขามากที่สุด อาจจะไม่เหมือนเดิม 100% แต่ก็สร้างพลังใจ มีความมั่นใจการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้มากขึ้น” ศัลยแพทย์เต้านมแถวหน้า สะท้อนความตั้งใจ
ปลอดภัย ไร้กังวลสำหรับผู้ป่วย
สำหรับคนที่มีความกังวลและไม่มั่นใจกับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมในผู้ป่วยมะเร็ง หมออู๋ ยืนยันว่าการเสริมซิลิโคนเหล่านี้เข้าไปไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม และสามารถเช็กอัพอัลตราซาวด์และเมมโมแกรมได้ตามปกติ
“บางคนกลัวว่าซิลิโคนจะแตกมั้ย ไม่มีปัญหาเพราะซิลิโคนถูกวางอยู่ชั้นใต้กล้ามเนื้อ และคุณภาพซิลิโคนในปัจจุบันก็ดีมาก เพียงแต่ว่าการเสริมซิลิโคนในบางเคส อาจทำให้การแปรผลยากขึ้น เพราะซิลิโคนไปเบียดเนื้อนม ทำให้การหาจุดสงสัยทำได้ยากขึ้น”
สำคัญคือต้องเลือกใช้บริการที่มีมาตรฐาน เนื่องด้วยในปัจจุบันการศัลยกรรมหน้าอกได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในผู้หญิง เมื่อมีการแข่งขันสูงก็มีการแข่งขันกันด้วยราคา ส่งผลให้บางครั้งคุณภาพลดลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ ห้องผ่าตัด ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถานที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าการผ่าตัดในโรงพยาบาลใหญ่ที่ได้มาตรฐานจะไม่เกิดปัญหาเลย เพราะทุกการผ่าตัดสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เสมอ
Check-Up พักผ่อนให้เพียงพอลดความเสี่ยง
จากข้อมูลสถิติจากสถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย คิดเป็น 34.2 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงมีโอกาสตรวจพบได้สูง ซึ่งหมออู๋ แนะนำให้ลดความเสี่ยงด้วยการ Check-Up หรือตรวจร่างกายเพื่อตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาโดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้ง
“ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวด์และเมมโมแกรมอย่างน้อยปีละครั้ง บางครั้งเราไปตรวจร่างกาย เราตรวจแต่อย่างอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด หัวใจ ไต ตับ ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของระบบร่างกาย แต่จริงๆ แล้วถ้าเราโฟกัสเรื่องมะเร็งเต้านมจะเห็นว่าพบมากเป็นอันดับ 1 และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้หญิง ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการเช็กอัพ”
หมออู๋ เสริมด้วยว่าโรคมะเร็งเต้านมไม่มีสาเหตุชัดเจน แต่สามารถลดความเสี่ยงง่ายๆ ด้วยการพยายามไม่เทคฮอร์โมนที่ไม่จำเป็นในระยะเวลานาน เช่น เกิน 5 ปีขึ้นไป รวมไปถึงการควบคุมน้ำหนักให้ดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่เกิน 25 เพราะมะเร็งเต้านมสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวเช่นเดียวกับทุกโรค ควรการกินอาหารโลว์คาร์บ โปรตีนสูง กินไขมันดี และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
“อีกเรื่องคือการพักผ่อน มีผลวิจัยออกมาว่าคนไข้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอและทำงานกลางคืน มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนที่พักผ่อนเพียงพอหรือนอนตอนกลางคืน สุดท้ายมันก็นำไปสู่เสาหลักในการดูแลสุขภาพ คือ อาหาร อากาศ ออกกำลังกายและจิตใจ มันเชื่อมโยงกันหมด เพราะมะเร็งเกิดจากระบบภูมิต้านทานที่บกพร่อง มีความผิดปกติของยีน ต้องดูแลทั้งองค์รวม “
ยิ่งใครมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ยิ่งต้องให้ความสำคัญ ปัจจุบันนี้มีการแนะนำให้ไปตรวจยีนว่ามีการถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมหรือไม่ ซึ่งตรวจง่ายและราคาไม่แพง โรงพยาบาลศูนย์บางแห่งมีโครงการตรวจฟรีให้กับกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติ
- 3626 views