รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี ให้บริการตรวจยีนมะเร็งเต้านม – รังไข่ ‘BRCA1/2 Multigene panel’  พร้อมหนุนบัตรทอง “ตรวจคัดกรองยีนมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2” ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติตรวจพบยีนกลายพันธุ์    

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี จัดพิธีเปิดการให้บริการตรวจยีนมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ BRCA1/2 Multigene panel โดยมี นพ.มนู ศุกลสกุล สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. และ นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี (สสจ.จันทบุรี) เข้าร่วมในพิธี

เปิดให้บริการการตรวจยีน BRCA1/2 Multiple panel

นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง สาขามะเร็ง และประธานคณะทำงานเวชศาสตร์จีโนม โรงพยาบาลพระปกเกล้า เปิดเผยว่า สำหรับที่มาของการเปิดให้บริการการตรวจยีน BRCA1/2 Multiple panel ในครั้งนี้ มาจากการที่ โรงพยาบาลพระปกเกล้าพบว่า จ.จันทบุรี มีแนวโน้มของการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปีที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้งในแต่ละปีทางโรงพยาบาลฯ ก็มีการให้บริการดูแลรักษาให้กับผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึงปีละ 2,000 คน ซึ่งต่อมาก็ทราบว่าสาเหตุน่าจะมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือก็คือการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1/2 หรือยีนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ประกอบกับก่อนหน้านี้ทางโรงพยาบาลพระปกเกล้า ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจทางพันธุกรรมให้กับแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2567 (Genomics Thailand) ที่มีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน รวมถึงจากโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยนี้ ก็ได้ทำให้ทาง สปสช. มีการเพิ่มบริการตรวจยีน BRCA1/2 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ให้สามารถเบิกจ่ายชดเชยได้ด้วย 

ดังนั้นจึงเกิดความคิดว่าอยากจะต่อยอดห้องปฏิบัติการจีโนมิกส์พระปกเกล้า ที่มีการให้บริการตรวจยีนกลายพันธุ์มะเร็งอื่นๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือด อยู่แล้ว ให้ครอบคลุมมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ รวมถึงมะเร็งอื่นๆ อย่างมะเร็งตับอ่อนและมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่อาจจะสัมพันธ์กับยีน BRCA1/2 ด้วย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วย และผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเหล่านี้ ได้เข้าถึงการตรวจ เพื่อวางแผนการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ 

“เราใช้เวลาเตรียมการกันเกือบ 1 ปี ในการส่งเจ้าหน้าที่ไปเรียน หาเทคโนโลยีที่เหมาะสม แล้วก็ราคาที่เหมาะสมที่ผู้ป่วยจะได้รับบริการ และโรงพยาบาลสามารถดำเนินต่อไปได้ จึงนำมาสู่งานวันนี้ที่เราเปิดให้บริการ BRCA1/2 Multigene panel ซึ่งโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีคนไข้เข้าเกณฑ์ก็สามารถติดต่อสอบถามการส่งมาตรวจได้เช่นกัน ที่สำคัญทางโรงพยาบาลพระปกเกล้า ยังได้ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. ในการรายงานผลให้กับผู้ป่วย ผ่านแอปพลิเคชัน ผูกพัน ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลตัวเองได้ด้วย” นพ.ภาสกร กล่าว

นพ.มนู ศุกลสกุล กล่าวว่า การพัฒนาห้องปฏิบัติการจีโนมิกส์พระปกเกล้า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง ให้มีศักยภาพสามารถให้บริการตรวจยีนมะเร็งเต้านม BRCA1/2 Multigene panel ของโรงพยาบาลพระปกเกล้าในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี รวมถึงเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินนโยบายของ สธ. ด้านมะเร็งครบวงจรให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

เนื่องจากโรงพยาบาลพระปกเกล้าจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการตรวจยีนดังกล่าวให้กับหน่วยบริการทั้งภาครัฐ และเอกชน ในโซนภาคตะวันออก และเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียง มีโอกาสเข้าถึงการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (Precision Medicine) ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้มากขึ้นอย่างมาก 

“ต้องขอขอบคุณ สปสช. ที่ได้สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายบริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 ให้กับหน่วยบริการ และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนผลักดันให้มีการเปิดการให้บริการตรวจยีน BRCA1/2 ของโรงพยาบาลพระปกเกล้าในครั้งนี้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุข และยกระดับสุขภาวะที่ดีของคนไทยต่อไปในอนาคต” นพ.มนู ศุกลสกุล กล่าว 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจยีน BRCA1/2 เป็นหนึ่งในบริการที่สำคัญอย่างมากสำหรับคนที่มีญาติเป็นมะเร็งเต้านม แม้จะสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แต่หากตรวจเจอสามารถวางแผนดูแลรักษาก่อนที่จะลุกลามและรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งบริการนี้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) “บริการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 กลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง และญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์” มาระยะหนึ่งแล้ว โดยครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาที่มีข้อบ่งชี้ 

ไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีจากข้อมูลของ สปสช. พบว่า ที่ผ่านมาการมารับบริการการตรวจยีน BRCA1/2 ยังมีไม่มากนัก โดยในแต่ละปีไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่ามีญาติผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมเพียงประมาณ 1,000 คนเท่านั้นที่มารับการตรวจยีนดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามีสาเหตุมาจากการที่ไม่มีหน่วยบริการที่สามารถให้บริการได้ ดังนั้นวันนี้ที่ทางโรงพยาบาลพระปกเกล้า มีการพัฒนาจนสามารถให้บริการตรวจยีนดังกล่าวได้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับประชาชนในภาคตะวันออก ที่จะได้เข้าถึงการตรวจมากขึ้น 

“เราเชื่อว่าโรงพยาบาลพระปกเกล้าจะเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งในแถบภาคตะวันออก และอาจจะไปถึงอีสานตอนใต้ รวมถึงข้ามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกเล็กน้อย นอกจากนี้ การเกิดศูนย์ในการให้บริการลักษณะนี้จะเป็นการเสริมกับบริการการตรวจมะเร็งด้วยแมมโมแกรมให้กับญาติผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง 30 บาท ในช่วงที่ผ่านมาด้วย ซึ่งน่าจะช่วยให้หลังจากนี้จำนวนและอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมในปีต่อๆ ไปลดลง”นพ.จเด็จ กล่าว