สธ. เผย บุคลากร รพ.สต.ถ่ายโอนไป อบจ. กว่า 40% ขอย้ายกลับ เหตุไม่มีความพร้อมดำเนินการ ระเบียบที่ไม่เอื้อ ภาระงานเพิ่มมากขึ้น โอกาสก้าวหน้าและความมั่นคงการทำงานไม่เท่าเดิม ระบบการทำงานยุ่งยากซับซ้อน นโยบายก่อนและหลังโอนย้ายทำไม่ได้จริง เกิดผลกระทบกับประชาชน
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. กล่าวว่า หลังจากมีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จากการติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจ พบว่า บุคลากรกว่า 40 % ที่โอนย้ายไปมีความต้องการขอย้ายกลับกระทรวงสาธารณสุข เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ประกอบด้วย
1. ความไม่พร้อมในการรับถ่ายโอนของ อบจ. ระบบใหม่ยังไม่ลงตัว ระเบียบต่างๆ และแนวทางการดำเนินงานยังไม่ชัดเจน และไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของสาธารณสุข โดยระบุว่าอยากให้โครงสร้าง อบจ. มีความพร้อมมากกว่านี้ถึงจะทำการถ่ายโอน และให้สมัครใจย้าย ไม่ใช่บังคับสมัครใจโดยนำกฎหมายมาอ้าง แต่ขาดความพร้อม ขาดความเข้าใจ
2. ภาระงาน ให้เหตุผลว่า ภาระงานเพิ่มมากขึ้น บุคลากรไม่เพียงพอต่องาน ความไม่มั่นคงทางการเงินของ รพ.สต. ทำให้ต้องหาเงินเข้า รพ.สต.ด้วย ขณะที่บุคลากร อบจ.ไม่เพียงพอและไม่มีความรู้ด้านสาธารณสุข ทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ ระบบบริการเดิมที่ดีอยู่แล้ว แย่ลงมาก ประชาชนได้รับผลกระทบ
3. ความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงาน โดยลูกจ้างมีโอกาสก้าวหน้าค่อนข้างยากและไม่มีความชัดเจน ความก้าวหน้าไม่เป็นไปตามโครงสร้าง การปรับเงินเดือนขึ้นน้อยกว่า เงินเวรน้อยกว่า สวัสดิการและเงินค่าตอบแทนต่างๆ ได้ไม่เท่าเดิม อีกทั้งยังมีปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลที่ได้ไม่เท่าเดิม สิทธิการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขมีความมั่นคงมากกว่า อปท.
4. ระบบการทำงานของ อบจ.ไม่เอื้อต่อการทำงานของ รพ.สต. แนวทางการปฏิบัติงานยุ่งยาก ซับซ้อน ขั้นตอนมาก ไม่มีความคล่องตัว ระบบการประสานงานข้ามกระทรวงยุ่งยาก ประสานงานลำบาก ขอบเขตงานทันตกรรมไม่ชัดเจน ที่สำคัญ อบจ.ไม่มีทันตแพทย์รองรับการให้บริการทันตสุขภาพ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีระบบการทำงานง่ายกว่า ไม่ซับซ้อน อีกทั้งมิใช่การถ่ายโอนลงพื้นที่ตามเจตนารมณ์การกระจายอำนาจ การถ่ายโอนไป อบจ. เพิ่มชั้นความห่างของการทำงาน บาง รพ.สต. กว่าจะเดินทางมาถึง อบจ. มีระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร จากเดิมที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ในพื้นที่ คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งอยู่ใกล้ มีความใกล้ชิด เข้าใจระบบการทำงาน และทำงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
และ 5. ความรู้สึกหลังการโอนย้าย โดยระบุว่าไม่ชอบระบบทางการเมือง แนวนโยบายก่อนกับหลังถ่ายโอนไม่สามารถทำตามได้จริง หรือทำไม่ได้อย่างที่ออกนโยบาย ต้องรอความชัดเจน และเห็นว่างานสาธารณสุขควรอยู่กับสาธารณสุข
ทั้งนี้ มีบุคลากรส่วนหนึ่งระบุว่า ไม่ได้อยากโอนย้าย แต่อยากทำงานที่ รพ.สต.เหมือนเดิม และขอให้กระทรวงสาธารณสุขหาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ประสงค์โอนย้ายกลับ ภายในปี 2568 โดยขอย้ายกลับในตำแหน่งเดิม เลขที่ตำแหน่งเดิม และมีแนวทางรองรับเจ้าหน้าที่ย้ายกลับให้ชัดเจน และขอให้ดำเนินการด้วยความพร้อม มิใช่รวบรัด เร่งรีบ ขาดความเข้าใจ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ มิใช่มาสร้างปัญหาให้เกิดความเดือดร้อน เกิดผลกระทบกับประชาชน ทำลายระบบสาธารณสุขที่พัฒนาสร้างมาเป็นอย่างดีจนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-สธ. เดินหน้าศึกษาหาทางออกช่วย "บุคลากรสาธารณสุข" ถ่ายโอนไป อบจ.กว่า 40% ขอย้ายกลับ
- 13596 views