ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลอเซโล เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกซึ่งมีการกล่าวถึงกันมาก จากความงดงามของทะเลหมอกกว้างไกลสุดสายตาตามแนวแม่น้ำสาละวิน โอบล้อมด้วยขุนเขา เขตแดนไทย-เมียนมาร์ ในพื้นที่ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่อนสอน จากชุมชนเล็กๆ 2 หมู่บ้าน คือบ้านกลอเซโล และบ้านบุญเลอของชาวปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง ใช้ชีวิตทำไร่หมุนเวียนกันอย่างสงบ ก็เกิดลานกางเต็นท์รองรับนักท่องเที่ยวขึ้นมากถึง 21 จุด ตามแนวสันเขาที่ทอดตัวขนานไปตามลำนำสาละวิน ซึ่งจะเห็นทะเลหมอกได้ตลอดแนวแม่น้ำ
นักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น แต่การเดินทางไปกลอเซโล ยังคงเป็นไปอย่างยากลำบากจากสภาพถนนดินลูกรังลัดเลาะไปตามแนวเขาเลียบหน้าผาสูงชัน ต้องใช้รถยนต์แบบขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น หากผู้ขับขี่ไม่ชำนาญเส้นทางก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จากสภาพภูมิประเทศดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน ทำให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ร่วมกับโรงพยาบาลสบเมย และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่สามแลบ ก่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขึ้นที่กลอเซโลเพื่อรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนในชุมชน ซึ่งเปิดใช้และมีการซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินไปเมื่อเร็วๆ นี้
พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายยกอบต.แม่สามแลบกล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีปัญหาการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งจากอุบัติเหตที่ทำให้เสียเลือดมาก โรคที่ต้องรักษาโดยเร็วเช่นหัวใจ หรือสตรีที่คลอดเองตามธรรมชาติไม่ได้ แต่พื้นที่เดินทางลำบาก กว่าจะมาถึงโรวพยาบาล ในบางพื้นที่อาจใช้เวลาหลายชั่วโมง จึงมีการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 สำหรับลานจอดเฮลิคอปเตอร์บ้านกลอเซโลนี้ ทีมโรงพยาบาลสบเมยเริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่หาจุดก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยหารือกับอบต.แม่สามแลบ เนื่องจากเคยร่วมมือซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินกันมาโดยตลอด จึงมาประสานหาสถานที่โดยชาวบ้านเจ้าของที่ดินก็ยืนดีเพราะถือว่าชุมชนเองจะได้ประโยชน์ด้วย ส่วนงบประมาณก่อสร้างนั้นได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือสพฉ.
“นอกเหนือจากการช่วยเหลือผู้ป่วยชุมชนชายแดนแล้ว การมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยังส่งผลดีต่อพื้นที่ซึ่งลานกางเต๊นท์จุดวิวทะเลหมอกกลอเซโล มีแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยม การมีระบบสำหรับการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น” พงษ์พิพัฒน์กล่าว
นายกอบต.แม่สามแลบเล่าวว่า ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ อบต.มีการเตรียมพร้อมสำหรับการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่แล้ว โดยทีมแพทย์ พยาบาล และเครือข่าย ทั้งอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) มีการซ้อมแผนกันมาตลอด ทั้งผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.เชื่อมประสานกับทีมแพทย์ 1669 แม้พื้นที่นี้จะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ แต่ก็มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ติดต่อกันผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ มีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อรายงานเหตุที่เกิดขึ้นและอาการผู้ป่วย โดยศูนย์ใหญ่จะอยู่ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
(พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ)
พงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า จากการหารือกับเรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสพฉ.เห็นว่าน่าจะมีการสร้างบุคลากรฝึกอบรมเพื่อมาเป็นศูนย์กลางสำหรับอบต. โดยสพฉ.จะช่วยเหลือหาทุน จัดหลักสูตร เพื่อนำร่อง เนื่องจากการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินของอบต.มีเงื่อนไขหลายอย่าง ต้องมีอุปกรณ์ รถ ก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนได้ อบต.จำนวนมากมีงบประมาณไม่เพียงพอจึงไม่สามารถทำได้
“สำหรับพื้นที่แม่สามแลบ วางแผนไว้ว่านอกจากอสม.และอปพร.แล้ว จะเชิญชวนเจ้าของลานกางเต๊นท์ต่าง ๆ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่เข้าร่วมอบรมด้วย เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวมากที่สุด หากเกิดเหตุขึ้นสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ทันที เนื่องจากปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ฤดูท่องเที่ยวระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ 2564-2565 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากลอเซรวมกว่า 2 หมื่นคน แต่ปีนี้คาดจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเป็นอุบัติเหตุ เช่นรถตกข้างทาง ทำให้ได้รับบาดเจ็บขาหัก หัวแตก นำส่งโรงพยาบาบใกล้เคียงทั้งโรงพยาบาบสบเมย และโรวพยาบาลแม่สะเรียง แต่ยังไม่เคยเกิดเหตุรุนแรวและมีผู้เสียชีวิต”นายกอบต.แม่สามแลบเล่าถึงสภาพปัญหาและแนวทางที่จะพัฒนาต่อไปเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่
ด้าน เลขาธิการสพฉ.เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา กล่าวว่า คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และสพฉ.เองมีความพยายามที่จะทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีการใช้อากาศยานส่งผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนไปยังโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่มาตั้งแต่ปี 2553 จากจุดนั้นทำให้พัฒนาการมาถึงจุดนี้ ขณะนี้ SKY DOCTOR มีการขยายไปทั่วประเทศ
“หลังจากที่เราเริ่มนำเฮลิคอปเตอร์ไปรับผู้ป่วยจากชุมชนที่ห่างไกลก็พบว่าการไปลงของฮ.มีความเสี่ยง เพราะไปลงในพื้นที่โล่ง ทุ่งนา จึงมีแนวคิดน่าจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ความปลอดภัยนี้จะเกิดขึ้นแก่อากาศยาน ทีมบุคลากรทางการแพทย์ และกับผู้ป่วยเอง โดยการสร้างลานฮ. แม้ว่าจะไม่เป็นมาตรฐานระดับสากล แต่ก็ถือว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง สำหรับฮ.เองก็มีข้อจำกัดถ้าสภาพอากาศมีฝนตกหนักก็มีข้อจำกัด แต่อย่างไรก็ตามมีดีกว่าไม่มี เพราะแต่เดิมเราไม่มีทางเลิอกเลย”
(เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา)
แม้การรับส่งผู้ป่วยทางอากาศยานจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เลขาสพฉ.ยืนยันว่า หากการดำเนินการต่างๆ เข้าสู่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว ผู้ป่วยหรือชาวบ้านจะไม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย
“ต่อไปนี้ถ้าเข้าสู่ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 แต่ที่นี่อาจไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อาจมีการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะมีการซักฃ้อมกระบวนการแจ้งประสานงานให้ใช้ระบบออนไลน์แจ้งเข้าไปให้ศูนย์ได้รับรู้รับทราบซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเกิดการปฏิบัติการขึ้นแล้วชาวบ้านจะไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะทั้งหมดจะมีกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินเข้ามาสนับสนุน หน่วยงานของรัฐที่มีอากาศยาน ทหาร ตำรวจ ก็พร้อมให้การสนับสนุนโดยที่กองทุนการแพทย์ฉุกเฉินจะรับผิดชอบค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายต่างๆ นี่คือการทำให้เกิดการเช้าถึงระบบบริการสุขภาพที่ไม่ได้เป็นภาระแก่ผู้ป่วยเอง”
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จำนวนมากยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ.จึงมีโครงการที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ได้พัฒนาการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินขึ้น
“แนวทางการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยคณะกรรมการกระจายอำนาจเห็นด้วยกับข้อเสนอของสพฉ. ที่ให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่น โดยสพฉ.ร่วมขับเคลื่อนใน 2 ลักษณะ โดยให้ท้องถิ่นขนาดใหญ่ เช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 และท้องถิ่นขนาดเล็ก เป็นหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินดูแลประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีอปท.ดำเนินการเป็นหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินในพื้นที่แล้วกว่า 5,000 แห่ง จากจำนวนกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2566 นี้ สพฉ.มีโครงการที่จะขับเคลื่อนโครงการนำร่องภาคละ 1 จังหวัด ให้ทุกอปท.ในจังหวัดจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินได้ครบทั้งหมด”
โครงการดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลหน่วยปฏิบัติการแพทย์ พ.ศ. 2564 กำหนดว่า อปท.ซึ่งจะจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ จะต้องมีความพร้อมใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านบุคลากร 2.ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์อื่นๆ 3.พาหนะ 4.ระบบการสื่อสารและสารสนเทศ และ 5.อาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก แต่สำหรับอปท.ขนาดเล็กซึ่งมีงบประมาณจำกัด ปัจจัยดังกล่าวเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ได้ ซึ่งจะมีผลต่อการเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน จากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน
“สำหรับภาคเหนือสพฉ.จะนำร่องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากการทำงานร่วมกันที่ผ่านมาเราเห็นถึงความตั้งใจของท้องถิ่นเพียงแต่ขาดแคลน ซึ่งโครงการที่สพฉ.จะดำเนินการนั้นจะช่วยเติมในด้านการพัฒนาบุคลากร ส่วนด้านอื่นๆ เช่นพาหนะ อุปกรณ์ ก็จะช่วยผลักดันด้านงบประมาณผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือยกเว้นข้อกำหนดในประกาศจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการบางอย่างเช่น ตามประกาศกำหนดให้ต้อวใช้รถตู้ หรือรถกระบะที่มีเตียงตามมาตรฐาน ก็อาจจะให้ใช้รถกระบะธรรมดาสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ และเมื่อจัดตั้งหน่วยได้แล้วก็อาจจะเพิ่มเงินสนับสนุนที่จะเบิกจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมและมีมาตรฐาน” เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะกล่าว
นี่คือก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อดูแลให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงต่อไป
- 274 views