“สมศักดิ์” ถก กพฉ. ไฟเขียวเอกชน ยก ฮ.ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ นำร่อง 5 จังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยว เล็งขยายภาคละ 2 จ.ครอบคลุมทั่วประเทศ เพิ่มการเข้าถึงบริการในพื้นที่ห่างไกล ลดอัตราการเสียชีวิต เห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์ฯการปฏิบัติหน้าที่ การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เพิ่มความพร้อมอุปกรณ์และบุคลากร

 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม  ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ว่า กพฉ.อนุมัติจัดระบบหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทางฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ โดยองค์กรเอกชน ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ที่มีฐานปฏิบัติการบิน ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 2. ชลบุรี 3.เชียงใหม่ 4.ภูเก็ต และ 5.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย)

นอกจากนี้ตนยังขอให้พิจารณาเพิ่มการให้บริการเป็นภาคละ 2 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการประชาชนทั่วประเทศ ลดข้อจำกัด เพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต โดยในปี 2566 สพฉ. ได้รับการร้องขออากาศยานจากหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในพื้นที่ ทั้งหมด 540 ครั้ง แต่ สพฉ.สามารถจัดให้มีอากาศยานได้เพียง 220 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 41 อีกทั้ง ล่าช้าราว 1-2 ชั่วโมง ซึ่งมีผลต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติไม่ทันเวลา เพราะอากาศยานของหน่วยงานของรัฐมีภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน ไม่สามารถสนับสนุนการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศได้ตลอดเวลาที่ได้รับการร้องขอ

ทั้งนี้ กพฉ.รายงานว่า โรคหลักๆ ที่ทำให้มีผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน ส่วนใหญ่เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือสโตรก โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งต้องรับการรักษาอย่างทันท่วงที

“ผมเชื่อว่าในปีถัดๆ ไป อาจจะไม่ต้องมาพิจารณาเรื่องการใช้ปฏิบัติการช่วยเหลือเร่งด่วนทางอากาศแล้ว การเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติของประชาชนจะลดน้อยลง เพราะขณะนี้ผมกำลังทำนโยบายเรื่อง NCDs ให้ความรู้ประชาชนเรื่องการบริโภคอาหาร การรับประทาน แป้ง น้ำตาล ในปริมาณที่เหมาะสม โดยจะใช้กลไก อสม.ช่วยรณรงค์” นายสมศักดิ์ กล่าว

ร่างประกาศหลักเกณฑ์ การปฏิบัติหน้าที่ฯ เพิ่ม "อุปกรณ์-บุคลากร"

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ ร่าง ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ และการกำกับดูแลการปฏิบัติการของผู้ปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความพร้อมทั้งอุปกรณ์ และบุคลากร ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และเพิ่มจำนวนหน่วยแพทย์ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั่วถึงและเท่าเทียม อย่างมีมาตรฐาน เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงสถานพยาบาล และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป