ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มติเห็นชอบร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ และให้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ทั้งนี้ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 ครบกำหนด 5 ปีซึ่งคสช.จะต้องพิจารณาทบทวนตามบทบัญญัติในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จึงดำเนินการยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. .... โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ และสมัชชาสุขภาพ โดยสาระสำคัญของร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน                

ส่วนที่ 1 สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อระบบสุขภาพ ในระยะ 5 ปี เป็นการสรุปข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อระบบสุขภาพในระยะ 5 ปี ภายใต้แนวคิดว่าการสร้างความแข็งแกร่งของระบบสุขภาพไทยในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของไทยเพื่อออกแบบกลไกให้สนับสนุนการฟื้นคืน ตอบสนอง และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงมุ่งไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ คือ “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” โดยสถานการณ์และปัจจัยดังกล่าว ประกอบด้วย (1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและความแตกต่างระหว่างวัย (2) การเปลี่ยนแปลงทางระบาดวิทยาของโรคและปัญหาสุขภาพ (3) การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง (4) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (5) การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน (6) การขาดแคลนทรัพยากรและงบประมาณ และ (7) การแบ่งขั้วทางการเมืองของโลกและการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นได้ส่งผลให้เกิดปัญหากับประชาชนและระบบสุขภาพที่ล้วนเป็นไปในทิศทางที่ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมเพิ่มขึ้น และได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ทิศทางการพัฒนาควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่มุ่งไปสู่การขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยยึดหลักธรรมาภิบาล (good governance) และการปกครองด้วยหลักนิติธรรม (rule of law)

ส่วนที่ 2 กรอบแนวคิด ปรัชญาและเป้าหมายร่วมของระบบสุขภาพ คือ การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน หรือ sustainable livelihoods ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดตามแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนนี้หมายรวมถึง ความสามารถ ทักษะ ทุน      (ทั้งทางวัตถุและสังคม) และวิธีหรือกิจกรรมที่บุคคลและชุมชนนำไปใช้เพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดย “สุขภาพ”   ถือเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันสุขภาพก็ยังจัดเป็นผลลัพธ์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยเชื่อว่าหากมีการจัดการได้ดีในเรื่องของปัจจัยที่กำหนดสุขภาพ (Determinants of Health) ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มประชากรที่ยากจนและกลุ่มประชากรที่อยู่ในสภาวะเปราะบางแล้ว ก็จะเกิดสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นธรรม มีสภาพเศรษฐกิจที่พัฒนา และเป็นสังคมที่มีสุขภาวะ

ดังนั้น ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. .... จึงมีกรอบแนวคิดที่มุ่งสู่ “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ซึ่งหมายถึง “ระบบสุขภาพที่มุ่งให้เกิด “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือ ภาวะที่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดทุกช่วงวัย ไม่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งกลุ่มทางสังคม เศรษฐกิจ ลักษณะ ประชากร เชื้อชาติ ถิ่นที่อยู่อาศัย พื้นที่ หรือการเข้าถึงสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หากความแตกต่างนั้น ๆ เป็นความแตกต่างที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้” โดยมีแนวคิดหลักว่า “ระบบสุขภาพมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัว ปรับเปลี่ยน คงอยู่ได้ ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และเป็นระบบสุขภาพที่มีการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล” ซึ่งได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานสู่เป้าหมายในระยะ 5 ปี ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การทำสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกกลุ่มวัยและทุกระดับ

ส่วนที่ 3 มาตรการสำคัญสู่เป้าหมายระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ มีเป้าหมายให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยเป็นระบบสุขภาพที่สร้างเสริมให้เกิดความเป็นธรรมด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะทางเศรษฐกิจและสังคมที่คำนึงถึงผลต่อสุขภาพตามหลักทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ มีการจัดการด้วยระบบธรรมาภิบาลที่ดี โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกระบวนการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริงของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการพัฒนาอย่างทั่วถึง   มีชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการ  ต่าง ๆ เช่น การสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะจากชุมชนและนโยบายของรัฐในระดับ ต่าง ๆ การส่งเสริมบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดการสังคมและสุขภาพในประเทศและระดับพื้นที่ สร้างกลไก เครื่องมือ และพื้นที่กลาง เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความร่วมมือกันและสร้างความเป็นเจ้าของในสังคมและสุขภาพทุกระดับอย่างกว้างขวางมากขึ้น เป็นต้น

การสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ มีเป้าหมายให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยเป็นระบบสุขภาพที่กำหนดนโยบายสนับสนุนให้มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพที่เอื้อให้ประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยที่เกิด เติบโต ทำงาน ดำรงชีวิตอยู่ จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต สามารถดำรงตนและพัฒนาสุขภาพตนเองอย่างสมดุลทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม อย่างมีศักยภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับและเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ (นอกเหนือจากเรื่องการรับบริการสุขภาพ)   มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เหมาะสม สามารถสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคและปัจจัยคุกคามสุขภาพได้ในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ รวมทั้งสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพได้อย่างเป็นธรรมและสอดคล้องตามบริบท ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมแนวคิดการสร้างทุนสังคมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมสู่การสร้างชุมชนและเมืองสุขภาวะ (healthy city) การส่งเสริมการสร้างชุมชน นโยบายและพื้นที่สาธารณะทั้งทางกายภาพ และโลกเสมือนจริง ที่ส่งเสริมและตระหนักถึงความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างการรับรู้และตระหนักรู้ในหน้าที่ของประชาชนในการดูแลสุขภาพ เป็นต้น

การจัดการระบบบริการสุขภาพ โดยมาตรการในเรื่องนี้มีเป้าหมายให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยเป็นระบบทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นการบริการต่าง ๆ     อันเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและบำบัดสภาวะความเจ็บป่วยและการฟื้นฟูสมรรถภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชนที่เชื่อมโยงและสมดุลทั้งสุขภาพทางกาย จิต ปัญญาและสังคมที่เป็นธรรม ตอบสนอง มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันของบุคลากรและผู้รับบริการ ด้วยการบูรณาการตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ จนถึง   ตติยภูมิ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การนำนโยบายทางการเงินการคลังมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและกระจายทรัพยากรด้านสุขภาพ การพัฒนาและใช้ระบบบริการปฐมภูมิเป็นฐานของหลักประกันสร้างการเข้าถึงบริการที่เป็นธรรม การพัฒนาและออกแบบรูปแบบการจัดบริการสุขภาพชุมชน เมือง หรือพื้นที่จำเพาะ ซึ่งรวมไปถึงชุมชนเสมือน (virtual community) และชุมชนออนไลน์ เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง