ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผย ความเสื่อมของร่างกายและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ในผู้สูงอายุ ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรงและการทรงตัวได้ไม่ดีพอ ทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่าย บางรายอาจบาดเจ็บเล็กน้อย บางรายเกิดการบาดเจ็บรุนแรง สามารถป้องกันและแก้ไขได้หากเข้าใจถึงความเสี่ยงและการดูแลที่เหมาะสม

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ในร่างกายจึงตามมา ส่งผลให้การควบคุมการทำงานต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป พบได้ในผู้สูงอายุคือ การเดินที่ไม่มั่นคง ซึ่งเกิดจากการทรงตัวที่บกพร่องอาจทำให้เกิดการหกล้มได้ ซึ่งส่งผลกระทบตามมา หากเกิดการหกล้มรุนแรงทำให้กระดูกหัก บางรายเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะอาจมีเลือดออกในสมองได้ ทำให้ผู้สูงอายุไม่ยอมเดินหรือกลัวการหกล้ม ทำให้จำกัดการทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งนำมาสู่ภาวะถดถอยของสมรรถภาพของร่างกาย

ายแพทย์ธนินทร์  เวชชาภินันท์  ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้ม มี 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ เพศหญิง อายุที่เพิ่มขึ้น การมองเห็นบกพร่อง โรคประจำตัว เช่น โรคสมองและระบบประสาท โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาพแวดล้อมภายในบ้าน เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ พื้นต่างระดับ พื้นเปียกหรือลื่น การวางของระเกะระกะ เป็นต้น แนวทางการป้องกันโดยแพทย์จะประเมินผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ประเมินจากสภาพแวดล้อมที่บ้าน และให้คำแนะนำการป้องกันการหกล้ม การออกกำลังกายในผู้สูงอายุได้แก่ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเพิ่มการทรงตัว เช่น การรำมวยจีน   ไทเก็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตามการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุทั้งที่ปกติและมีโรคประจำตัวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง      โดยหลีกเลี่ยงและลดปัจจัยเสี่ยง จะช่วยป้องกันภาวะทุพพลภาพในผู้สูงอายุได้ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เปิดให้บริการ “คลินิกสูงอายุคุณภาพ” โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กายภาพบำบัด และทีมสหวิชาชีพเชี่ยวชาญ ในวันพุธที่ 2 และ 4 ของเดือน 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง