แพทย์เตือนข้อมูลอันตราย! หลังคนทำคอนเทนต์กินค้างคาว   หมอจุฬาฯ ชี้แม้ปรุงสุกก็เสี่ยงรับเชื้อ ขนาดนักวิจัยที่ไปเก็บตัวอย่างสัตว์ป่า ยังต้องสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล(PPE)  ซึ่งคนทั่วไปแทบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเลย ย้ำ! สัตว์ป่าทุกอย่างเราต้องปล่อยเขาอยู่ในป่า ไม่ควรสัมผัส หรือบริโภค ด้านกรมควบคุมโรคชี้ค้างคาวเป็นสัตว์ป่า บินสูง ไม่น่าจับมากินได้ง่าย ถ้าจับได้อาจตกลงมากับพื้น แสดงว่าอาจป่วย ทางที่ดีไม่ควรรับประทาน

 

จากกรณีที่ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน” นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก  หมอแล็บแพนด้า เตือนกรณีคุณครูสาวรายหนึ่ง ทำคอนเทนต์ท้าลองเมนูสุดสยองรับประทาน “ค้างคาว” ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดโรคระบาดแปลกๆ ได้ อย่างที่เคยเกิดโรคโควิด-19

 

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า สำหรับการเข้าป่าไปหาของแปลก สัตว์แปลกมารับประทานมีอันตรายอย่างแน่นอน โดยสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติเป็นแหล่งรังโรคที่มนุษย์ยังไม่เคยสัมผัส ซึ่งบางชนิดก็ติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยเฉพาะค้างคาวที่มีไวรัสเยอะมาก เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีโบล่า(Ebola) ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ทื่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ รวมถึงไวรัสโคโรน่า(Corona virus) ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ด้วย และอีกหลายตัว ดังนั้น ไม่ควรไปสัมผัสกับค้างคาว เพราะสัตว์รังโรคมักไม่แสดงอาการป่วย เราจึงไม่แนะนำให้กินสัตว์ป่าทุกชนิด เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าไปจับ อย่างค้างคาวที่อยู่ในถ้ำ เป็นระบบปิด อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ขับถ่ายอยู่ถ้ำ ก็มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้ เพราะเจอว่ามีเชื้อไวรัสโคโรน่าที่อยู่ในปัสสาวะค้างคาว แต่ยังไม่กระโดดมาคน แต่วันหนึ่งถ้าไวรัสเก่งขึ้น ก็กระโดดมาคนได้ ที่ผ่านมามีรายงานพบเชื้อโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ทำให้เกิดเชื้อราในคนที่เข้าไปในถ้ำค้างคาว เกิดภาวะปอดอักเสบ ส่วนก่อนจะนำค้างคาวมาปรุงสุก ก็ต้องผ่านขั้นตอน เช่น ถลกเนื้อ ล้างเนื้อ ซึ่งก็มีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาว

 

“ปัญหาของโรคที่มาจากสัตว์ป่าจะพบในแอฟริกาเยอะ เพราะเป็นประเทศที่ไม่ได้เลี้ยงไก่ หมูเหมือนบ้านเรา เขาก็จะล่าสัตว์ป่ามากิน แต่บ้านเรามีสัตว์เลี้ยง มีแหล่งอาหารเต็มไปหมด จึงไม่ควรไปยุ่งกับสัตว์ป่า” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว

 

เมื่อถามว่าขณะนี้มีสัญญาณเกี่ยวกับโรคที่มาจากสัตว์ป่าหรือไม่  ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า ทาง รพ.จุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กว่า 10 ปี เพื่อสำรวจสัตว์ป่า ดูว่ามีโอกาสเกิดเชื้อไวรัส หรือโรคอะไรที่กระโดดมาคนหรือไม่ ส่วนหนึ่งเราสำรวจค้างคาวในไทย ก็พบว่าเชื้อคล้ายกับไวรัสซาร์สโคฟ(Sars-CoV) เพียงแต่ยังไม่กระโดดจากสัตว์มาคน แต่หากวันหนึ่งที่ไวรัสพร้อม ก็อาจทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้น ก็จะมีความเสี่ยง ซึ่งจริงๆ พบได้มาก อย่างที่ประเทศลาวมีรายงานใกล้เคียงกับไทย

 

ถามต่อว่ามีคำแนะนำผู้ที่ทำคอนเทนต์เช่นนี้อย่างไร ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า แนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะมีโอกาสจะที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ขนาดนักวิจัยที่ไปเก็บตัวอย่างสัตว์ป่า ยังต้องสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล(PPE) ซึ่งคนทั่วไปแทบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเลย ฉะนั้น ก็เสี่ยงอันตรายได้ รวมถึงการกินอาหารไม่สุกก็มีโอกาสติดเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัส ดังนั้น สัตว์ป่าทุกอย่างเราต้องปล่อยเขาอยู่ในป่า ไม่ควรสัมผัส หรือบริโภค

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์  ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า พฤติกรรมการรับประทานค้างคาว ถือว่าไม่ควรรับประทาน เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ป่า และปกติมีคลื่นโซนาร์ในตัว ประกอบกับเป็นสัตว์ที่บินสูง ไม่น่าที่จะจับมารับประทานได้ง่าย  ถ้าจับได้ง่าย หรือตกลงกับพื้น แสดงว่าค้างคาวตัวนั้นอาจเป็นโรค  การติดเชื้อจากค้างคาวก็เหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดนก  ที่ไม่ได้เป็นการติดเชื้อจากรับประทาน เพราะการปรุงสุกเชื้อก็ตายหมด  แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการปรุงมากกว่า เพราะขั้นตอนการปรุง ต้องจับถอนขน สัมผัสสารคัดหลั่ง ก็อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อทั้งไวรัส และแบคทีเรีย

 

โดยเชื้อไวรัสอันดับที่ 1 ที่จะพบได้ในค้างคาว ได้แก่ นิปาห์ไวรัส  (Nipah) รองลงมา โคโรนาไวรัส   ซึ่งการติดเชื้อนิปาห์ไวรัส นั้น เคยมีการเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย  และมีคนเสียชีวิต โดยค้างคาวไปแพร่เชื้อในหมู และคนก็ติดเชื้อจากหมู  โดยลักษณะหมูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ก็มีความคล้ายกับคน ดังนั้น ไม่จำเป็นอย่าไปรับประทาน  กินอย่างอื่นดีกว่า  เพราะปกติลำพังมูลค้างคาวก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org