กรุงเทพธุรกิจ - การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การที่โรคระบาดได้ทวีความรุนแรงขึ้น จากเชื้อไวรัสหลายชนิดไม่เคยถูกค้นพบ มาก่อน กระทั่งมันถูกขนานนามว่าเป็น "โรคอุบัติใหม่"
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกถึงสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ ว่า วันนี้ ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัส โดยเฉพาะ "ค้างคาว" สัตว์ลึกลับ ที่เพาะบ่มเชื้อโรคได้โดยที่ตัวค้างคาวเอง ไม่ปรากฏอาการ หรือไม่ตาย โดยที่ค้างคาวจะปล่อยเชื้อให้กับค้างคาวด้วยกันเอง รวมไปถึงแพร่เชื้อไปที่สัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็น ลิง แมลง หรือสัตว์ฟันแทะ อย่างหนู เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม 12 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยพบว่าค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง อยู่อาศัย ใกล้ชิดกับคนมากที่สุด โดยสามารถพบ รังของค้างคาวแม่ไก่ในเขตชุมชน ที่มีประชาชนอยู่อาศัยหนาแน่น เช่น วัด และ โรงเรียน "การที่ค้างคาวสามารถมีวิวัฒนาการในการแพร่เชื้อ แสดงว่าไวรัสมีความสามารถในการประยุกต์ตัวเองเพื่อแพร่เข้าไปในสัตว์ตัวอื่น และทำให้เกิดโรค ตามมาได้" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า การที่ทราบข้อมูลของค้างคาว รวมไปถึง สัตว์ปีก และสัตว์บนดิน ทำให้รู้วิวัฒนาการและเป็นตัวชี้ที่บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ คนได้ในอนาคต
ทุกวันนี้มีผู้ป่วยกว่า 50% ที่ไม่ทราบว่าป่วยด้วยสาเหตุอะไร ในคนมีอาการ ไข้หวัดใหญ่ แต่ที่จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ ไข้หวัดใหญ่ คนที่มีอาการไข้เลือดออก แต่ก็อาจไม่ใช่มาจากไวรัสเดงกี่ก็ได้
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เดินหน้าพัฒนาวิธีการใหม่เพื่อตรวจหา เชื้อไวรัสแต่ละชนิดว่าอยู่ในตระกูลใด และมีความเกี่ยวพันกับเชื้อที่ซ่อนอยู่ในสัตว์หรือไม่
เขาบอกว่า การที่ได้ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้หมอรู้ว่ากำลังเผชิญกับอะไร และ ทำให้รู้ว่าจะวางมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้อย่างไร เพื่อให้กระชับที่สุด
วันนี้ โรคไข้สมองอักเสบ เป็นหนึ่งในโรคอุบัติใหม่ที่ยังคงน่ากลัว จากสถิติ พบโรคไข้สมองอักเสบปีละประมาณ 1 พันราย โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พบผู้ป่วยโรค ไข้สมองอักเสบเสียชีวิตแล้ว 250 ราย
แต่ด้วยโรคไข้สมองอักเสบ เป็นโรคที่ตกสำรวจ ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในสารบบของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเทียบกับโรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก ทำให้ความสำคัญของโรคขาดหายไป ซึ่งเขามองว่า ถ้ามีการศึกษาอย่างละเอียด และรู้ชื่อของเชื้อโรคนั้นๆ จะทำให้หมอที่รักษาคนไข้ได้เห็นความสำคัญของโรค และนำไปสู่การป้องกันที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจะป้องกันโรค อุบัติใหม่ได้สำเร็จนั้นต้องมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงไปในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่นักระบาดวิทยา แต่รวมถึงหมอโรคติดเชื้อ ที่รู้เรื่องนั้นจริงๆ ถ้าสามารถสร้างทีมโรงพยาบาลในเครือข่าย เพื่อลงพื้นที่จับสัตว์นำโรค และส่งตัวอย่างเชื้อมาตรวจในห้องแล็บได้ทัน จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยพร้อมทั้งป้องกันการติดเชื้อในห้องไอซียู
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า ณ วันนี้ประเทศไทยมีทีมวิจัยกว่า 20 คน กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านสัตว์ป่า ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศ เพื่อเดินหน้าโครงการวิจัยเรื่อง "บทบาทของสัตว์ แมลง ในการก่อโรค กลไกเชื้อและการรักษา" โดยมีเป้าหมายจะศึกษาพาหะนำโรคและแหล่งรังโรค อาทิ แมลง เห็บ ริ้น ไร และสัตว์ฟันแทะอย่างหนู ลิงและค้างคาว ที่แพร่เชื้อนานาชนิด ทั้ง อีโบล่า ซาร์ส และ นิปาห์สมองอักเสบ เป้าหมายของโครงการวิจัยดังกล่าว เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรคแบบเร็ว วิธีการป้องกันและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
แผนวิจัยดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปีในการสร้างฐานข้อมูลเชื้อโรคในสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ โดยเน้นศึกษาพัฒนาการของเชื้อโรคทั้งที่ทราบชนิดและไม่ทราบชนิด แต่มีการผ่าเหล่ารหัสพันธุกรรมจนเพี้ยนไปจากเดิม
ทั้งนี้ การศึกษากลไกการกระจายตัวของโรคจะครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงเขตรอบตะเข็บชายแดน เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกองค์กรรู้เท่าทันโรค จากสัตว์สู่คน สามารถป้องกันคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคได้ถูกวิธี และวางแผนรับมือโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยล่าสุดโครงการวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุน 20 ล้านบาท จากทุนนักวิจัยแกนนำ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เขามองว่า เงิน 20 ล้านบาท เป็นเพียง Seed Money ทำงานวิจัยให้คนเห็นความสำคัญ เงินใช้ในการลงพื้นที่ เก็บตัวอย่างสัตว์ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ขณะที่หมอทำหน้าที่พัฒนาเทคนิคการตรวจเชื้อชนิดนั้นๆ ต้องกว้างและลึกพร้อมกัน
"เป้าหมายของนักวิจัยคือเมื่อมีเชื้อ ตัวใหม่ปรากฏขึ้นจะต้องสามารถตอบได้ทันทีว่า เป็นเชื้ออะไร มาจากสัตว์อะไร ภายใน 2-3 วัน ซึ่งการจะทำได้ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวิธีการที่จะดูทั้งครอบครัว เช่น การตรวจสอบพันธุกรรมของไวรัสเดงกี่ไวรัส หรือไวรัสไข้เลือดออกทั้งตระกูล เพื่อดูไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมเปลี่ยน ซึ่งจะเป็นเชื้อที่ก่อโรคในอนาคต" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว วันนี้บอกไม่ได้ว่าจะเกิดอะไร ที่ผ่านมาพบไข้เลือดออกในประเทศจีน ทำให้มีคน ติดเชื้อกว่า 1 หมื่นคน และเสียชีวิตหลายร้อยคน ซึ่งจีนใช้เครื่องมือที่แพงมหาศาล เพื่อยืนยันว่าสถานการณ์ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อซิกก้าไวรัส
ในขณะที่เครื่องมือที่มีอยู่ ราคาถูก ใช้ได้ครอบคลุม โดยเลือกลงทุนในเชื้อที่มีความสำคัญ เพราะเชื้อที่ไม่รุนแรง ณ ตอนนี้ ในวันข้างหน้าอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นได้โดยไม่มีใครรู้ หรือเชื้อที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาก แต่ทำให้คนในพื้นที่เสียชีวิตทั้งหมด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า ในอนาคต เขาอยากเห็นประเทศไทยสามารถป้องกันการระบาดของโรคอุบัติใหม่ได้เทียบเคียงกับความสำเร็จของฮ่องกง ที่มีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อโรคซาร์ส รู้วิธีป้องกัน และสามารถจำกัดการลุกลามได้ภายใน ระยะเวลาอันรวดเร็ว
'เป้าหมายของ นักวิจัยคือเมื่อมีเชื้อตัวใหม่ปรากฏขึ้นจะต้องสามารถตอบได้ทันทีว่า เป็นเชื้ออะไร มาจากสัตว์อะไร ภายใน 2-3 วัน' ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 มกราคม 2556
- 74 views