ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่แพร่ระบาดลุกลามไปทั่วทั้งโลกในระยะเวลาอันสั้น ทำให้คนไทยจำนวนมากอกสั่นขวัญแขวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาตรการรับมือของภาครัฐยังไม่อาจสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประชาชนได้ เราจึงเห็นภาพความตื่นตระหนัก (Panic) ผ่านการกักตุนสินค้า ความหวาดระแวงในการใช้ชีวิต หรือแม้แต่พฤติกรรมการแห่ซื้อประกันสุขภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ จนถึงวินาทีนี้ ชื่อของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การพยากรณ์สถานการณ์ ไปจนถึงการกระตุ้นเตือนให้ภาครัฐใช้ “ยาแรง” เพื่อยับยั้งภัยคุกคามด้านสุขภาพในครั้งนี้
สำนักข่าว Hfocus มีโอกาสได้สนทนากับ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปิดสถานบริการ และยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ เพื่อลดการแพร่ระบาด
ทว่า อาจารย์แพทย์ท่านนี้ยังมองว่า “มาตรการที่รัฐบาลทำมาขณะนี้ไม่สุดซอย”
“การปิดสถานที่เพียงบางส่วนเพื่อป้องกันไวรัส COVID-19 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ช่วยอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากประชาชนยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ มีการไปทำงาน มีการเดินทางโดยสารสาธารณะ ดังนั้นสถานการณ์ในขณะนี้ก็คือ รอเพียงการปะทุของจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น
“มาตรการที่รัฐบาลทำมาขณะนี้ไม่สุดซอย เป็นมาตรการจิตวิทยา แต่จะไม่สามารถหยุดการแพร่กระจายแบบลูกโซ่ได้”
สิ่งที่จะช่วยหยุดการแพร่ระบาดได้อย่างจริงจังก็คือ “มาตรการขั้นเด็ดขาด” อาจารย์ธีระวัฒน์ บอกว่า รัฐบาลต้องประกาศห้ามประชาชนออกจากบ้านเป็นเวลา 21 วัน ยกเว้นเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นเท่านั้น
“หากทำได้อย่างเข้มงวดและจริงจัง นอกจากจะช่วยระบบสาธารณสุขแล้ว เศรษฐกิจก็จะสามารถกลับกลับมาฟื้นตัวได้ทันที”
สำหรับมาตรการห้ามออกจากบ้าน 21 วัน หรือราว 3 สัปดาห์นั้น ศ.นพ.ธีรวัฒน์ อธิบายว่า ระยะเวลา 21 วัน ถือเป็นช่วงเวลาที่ปลอดภัย กล่าวคือสามารถเฝ้าดูอาการได้ว่าในช่วง 14 วัน มีใครมีเชื้อโตขึ้นหรือไม่ และอีก 7 วัน เผื่อผู้ที่ที่อาจหายเองแต่ยังมีโอกาสแพร่เชื้ออยู่
ฉะนั้น ในระหว่างนี้จึงควรห้ามทุกคนออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ยกเว้นบางสายอาชีพ เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ พนักงานสาธารณูปโภค หรือการออกไปเพื่อทำธุระที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานเท่านั้น
ขณะเดียวกัน การออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นจะต้องออกมาตามลำพังหรือออกมาด้วยคนจำนวนน้อยที่สุด โดยต้องสวมหน้ากากและล้างมือให้บ่อยที่สุด ในสถานที่ทำงานก็ต้องมีมาตรการป้องกัน มีการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
“ที่สำคัญก็คือ ในช่วงระยะเวลาระหว่างที่ปิดเมืองนั้น จะมีกระบวนการทำลายเชื้อหรือ Deep Cleaning ในทุกสถานที่ ทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายต่อไปว่า หลังจากระยะเวลา 21 วัน หรือมั่นใจแล้วว่าประเทศไทยผ่านพ้นจากช่วงของการแพร่ระบาดแล้ว จึงเข้าสู่มาตรการระยะถัดไป ซึ่งใกล้เคียงกับการดำเนินชีวิตตามปกติได้แล้ว แต่ยังจำเป็นต้องมีการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล จำกัดการเดินทางสาธารณะโดยอาจมีการเหลื่อมเวลาเดินทาง พร้อมกับการตรวจสุ่มบุคคลในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการแพร่ระบาดอีก หรือหากพบจะต้องรีบจำกัดวงในทันที
เมื่อมั่นใจว่าภายในประเทศสะอาดขึ้นพอสมควรแล้ว การอนุญาตเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ จะต้องเลือกเปิดรับเฉพาะประเทศที่สะอาดแล้วจริง ๆ โดยผู้ที่เดินทางเข้ามาแล้วจะต้องมีการกักตัวอย่างเข้มงวดด้วย
อาจารย์ธีระวัฒน์ มั่นใจว่า หลังจากนั้นประชนาชนจะสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ความระมัดระวังเพื่อรอให้มีการผลิตวัคซีนออกมา
"หากต้องการให้ประเทศฟื้นตัวกลับมา เราต้องดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดเหมือนจีน” อาจารย์แพทย์ท่านนี้ พูดชัด
“หากดำเนินการอย่างเข้มงวดจริงภายใน 21 วัน และหลังจากนั้นพิสูจน์แล้วว่าไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ อย่างจีนที่เจอใหม่เพียงสิบราย เศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นก็จะสามารถกลับมาบูมอีกได้ คนก็จะกลับเข้ามาทำงาน ขณะเดียวกันเราก็รักษาอยู่ในระดับสองตรงนี้เอาไว้ รอให้อีกสักพักมีวัคซีนมา
“แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ สุดท้ายเราจะรับมือไม่ไหว เพราะขณะนี้เตียงคนไข้ก็มีไม่เพียงพอแล้ว”
ในระหว่างที่รัฐบาลยังละล้าละลังในการตัดสินใจเรื่องการปิดเมือง Hfocus ได้คุยกับ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” ต่อถึงมาตรการการตรวจคัดกรองไวรัสที่ควรจะเป็น ซึ่งแน่นอนว่า “การตรวจคัดกรองฟรี” จะช่วยให้ประชาชนปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
“ต้องมีการปรับปรุงนิยามของผู้ที่จะสามารถเข้ารับการตรวจฟรี” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ และว่า อาจจะไม่มีนิยามเหล่านี้อีกต่อไป เพราะไม่ว่าใครก็สามารถติดต่อกันได้
“ตอนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือมีประวัติสัมผัสกับชาวต่างชาติ ที่สำคัญคือลักษณะผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ก็จะคล้ายกับผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดทั่วไปได้ทั้งนั้น”
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจเชื้ออาจทำให้ไม่สามารถสนับสนุนการตรวจฟรีได้ทุกคน ฉะนั้นระยะแรกอาจต้องเลือกตรวจเฉพาะผู้ที่เริ่มมีอาการพัฒนาขึ้นในระดับปานกลาง ส่วนใครก็ตามที่มีอาการไม่มาก มีน้ำมูกไหลเป็นไข้หวัดขนาดเล็กหรือกลางทั่วไป หรือไม่แน่ใจว่าจะติดเชื้อหรือไม่ ให้ใช้วิธีการกักตัว 14 วันเพื่อเฝ้าดูอาการ และป้องกันตัวเองอีกอย่างน้อย 7 วัน โดยอยู่ห่างจากผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
สำหรับวิธีการตรวจเชื้อแบบ PCR ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีราคาแพง เก็บตัวอย่างได้ลำบาก และคนไข้ต้องเจ็บปวดเพราะถูกแยงรูจมูก นอกจากนี้ผลอาจผิดพลาดได้มากถึง 30% แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ในการเก็บสิ่งส่งตรวจอาจต้องใช้เป็นวิธี Walkthrough หรือ Drive-through โดยให้เจ้าหน้าที่ยื่นเฉพาะมือออกมาเก็บตัวอย่าง หรืออาจให้ผู้ที่สงสัยติดเชื้อทำการเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองแล้วมาส่งห้องปฏิบัติการ
แม้ว่าขณะนี้จะมีความพยายามหาวิธีการตรวจแบบใหม่ แต่ปัจจุบันก็ยังถือว่าไม่สำเร็จและมีราคาที่สูงอยู่ การตรวจหาเชื้อให้ได้หลักหมื่นหรือหลักแสนคนนั้นจำเป็นที่จะต้องทำให้ค่าตรวจลดลงเหลือเพียง 5-10 บาท และต้องตรวจได้อย่างรวดเร็ว
“ทุกวันนี้งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในระบบสาธารณสุข ในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน ฉะนั้นงบในการตรวจหาเชื้อจึงอาจไม่สามารถครอบคลุมการตรวจคนหลักหมื่นหลักแสนคนได้”
ฉะนั้น เป้าหมายที่พยายามจะไปให้ถึงคือการตรวจ Antibody
“คาดว่าอีกประมาณ 4 วัน ห้องปฏิบัติการของสภากาชาดไทยจะสามารถทำการตรวจด้วยวิธีนี้ได้” อาจารย์ธีระวัฒน์ บอกเล่าถึงความก้าวหน้า
“ขณะนี้เรากำลังทดสอบการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่สิงคโปร์ใช้อยู่ โดยสามารถบอกการติดเชื้อไวรัสได้สองระดับ คือระยะการติดเชื้อประมาณ 12-14 วัน และการติดเชื้อระยะ 4-6 วัน โดยวิธีการนี้มีความสะดวก ง่าย จะสามารถตรวจได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว”
เขา ย้ำว่า วิธีการนี้นับว่าดีที่สุดเท่าที่จะหาได้แล้วในตอนนี้ โดยอาจนำมาใช้ควบคู่กับการตรวจ CT Scan เพิ่มเติมในรายที่มีอาการน่าสงสัย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ขมวดประเด็นว่า ขณะนี้มีหลายประเทศที่กำลังทำวัคซีน เป็นเหตุผลที่เราต้องรอและยื้อสภาพให้ได้นานสุด
“อาจอีกประมาณ 6-9 เดือน หากเขาทำสำเร็จก็จะต้องใช้ในประเทศตัวเองก่อนส่งมาขายทั่วโลก ซึ่งตอนนั้นเราอาจต้องกัดฟันซื้อในราคาแพง แต่หากตอนนี้เรามาเสียเงินไปกับการรักษาเป็นหมื่นล้าน สุดท้ายอาจจะไม่มีเงินเหลือมาซื้อวัคซีน
“นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องรักษาระบบสาธารณสุขไม่ให้บรรลัย ขณะที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นทีละน้อย ด้วยการมีมาตรการที่เข้มแข็งตั้งแต่ตอนนี้"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการคัดกรองผู้ป่วย ณ รพ.ราชวิถี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.63
- 60 views