"นพ.ธีระวัฒน์" ระบุวิธีตรวจหาเชื้อ COVID-19 ไม่ควรมุ่ง PCR อย่างเดียว ทุกวิธีมีข้อดี-ข้อจำกัดแตกต่างกัน ชี้ตรวจ Antibody ช่วยหาพบตั้งแต่ระยะแรก
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า วิธีการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ไม่มีวิธีการใดที่จะให้ผลลัพธ์ได้ดีที่สุดหรือสามารถนำมาใช้ได้กับทุกกรณี หากแต่จำเป็นจะต้องผสมผสานการตรวจด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งมีข้อดี-ข้อจำกัดที่แตกต่างกัน มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในแต่ละสถานการณ์
"การหาว่าใครติดเชื้อโควิดนั้นจะต้องดูประกอบกัน ทั้งการสำรวจประวัติ ความเสี่ยง ลักษณะอาการ รวมถึงการใช้วิธีการตรวจหลายแบบเข้ามาประกอบกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการตรวจครั้งนั้น ฉะนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าการใช้วิธีการไหนหรือชุดตรวจใดจะดีกว่ากัน แต่จะต้องรู้ว่าวิธีตรวจใดใช้ทำอะไร รู้ข้อจำกัดของแต่ละแบบ รวมถึงอาจต้องใช้มากกว่าวิธีการเดียว" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การตรวจแบบ PCR ที่นิยมใช้กันอยู่นั้น อาจมีข้อจำกัดในขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง กระบวนการนำเข้าและระยะเวลาในการวิเคราะห์ผล ตลอดจนจำนวนวัสดุอุปกรณ์และบุคลากรที่จะถูกใช้ไปในการตรวจด้วยวิธีนี้ ไม่นับรวมกรณีที่ต้องตรวจซ้ำหากผลลัพธ์ที่ได้มีความกำกวม จึงอาจไม่สอดคล้องกับการตรวจที่ต้องการหาผู้ติดเชื้อจำนวนมากภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว
ขณะที่การตรวจด้วยวิธีการหาภูมิคุ้มกัน หรือ Antibody ก็ไม่ได้มีประโยชน์เพียงการใช้งานในทางระบาดวิทยาเท่านั้น เพราะหากตรวจพบภูมิคุ้มกัน Immunoglobulin M (IgM) ซึ่งปรากฏตัวในช่วง 4-6 วันหลังการติดเชื้อ ก็จะสามารถจำกัดการแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ตรวจได้เฉพาะภูมิคุ้มกัน Immunoglobulin G (IgG) ที่ปรากฏตัวช่วง 12-14 วัน เป็นหลักฐานของการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างเช่นการใช้ในกรณีที่ต้องการล็อคดาวน์เมือง และค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุดเพื่อจำกัดการแพร่ ซึ่งไม่ได้เป็นเป้าหมายเพื่อการรักษา แต่เพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดเยอะขึ้น จุดนี้การตรวจ Antibody จะเป็นประโยชน์ในการสามารถตรวจหาได้ครั้งละมากๆ ภายในระยะเวลาสั้น ซึ่งจะช่วยประกอบการวางแผนมาตรการล็อคดาวน์ที่รัดกุม ว่าจะต้องมีแค่ไหนอย่างไร
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ฉะนั้นประโยชน์ของการตรวจ Antibody จึงมีได้ 2 แบบ คือการพบ IgM ทำให้รู้ว่าผู้ป่วยเพิ่งติดเชื้อมาใหม่ สามารถที่จะกักตัวเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อต่อไปได้ ขณะที่หากพบ IgG ทำให้รู้ว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อมานาน ซึ่งหากพบว่ายังแข็งแรงไม่มีอาการก็อาจเข้าสู่ช่วง De-isolation หรือเริ่มพ้นจากระยะของการกักกันได้แล้ว เหลือเพียงเฝ้าระวังการแพร่เชื้อที่อาจเหลืออยู่
"บางคนจะมุ่งหาแต่วิธีการตรวจแบบไหนที่จะสมบูรณ์ 100% แต่เราควรรู้ว่าทุกแบบมีข้อจำกัดและควรใช้อย่างถูกวิธี ผสมผสานแต่ละวิธีการมาใช้ประกอบกันอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจว่องไว Rapid test ที่แค่เจาะเลือดปลายนิ้ว หรือการทำ CT Scan ล้วนต้องนำมาใช้ร่วมกันเพื่อจำกัดการแพร่เชื้อให้ได้ครอบคลุมกว้างขวาง นี่เป็นบทเรียนจากประเทศจีนที่ทำให้เห็นว่าการพึ่งพาวิธีการใดเพียงวิธีเดียวนั้นไม่ถูกต้อง" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ
- 39 views