ปลัดสธ.เผยอย. ขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 จากเดิมใช้ป้องกันโรค ขณะที่ข้อบ่งใช้ในกลุ่มอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง สามารถยลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 50-60 %
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการปรับการขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody หรือ LAAB) ให้เป็นยารักษาโรคแล้ว ซึ่งในส่วนของรายละเอียดเรื่องของการใช้นั้นขอให้สอบถามไปยังอย.อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยได้มีการนำเข้าภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปมาใช้เพื่อเพิ่มภูมคุ้มกันป้องกันในกลุ่มผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายแสง, ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง, ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานว่าได้ให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 อายุ 105 ปี พบว่าได้ผลดี รวมระยะเวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ต่อมามีการรายงานว่าได้มีการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนยา EVUSHELD ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ภายใต้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เพื่อใช้ป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ล่าสุด อย. ได้เพิ่มข้อบ่งใช้ของยา EVUSHELD ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เป็นการใช้ฉีดเพื่อรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดยใช้ขนาด 600 มิลลิกรัม จากเดิมที่อนุมัติให้ใช้เพื่อป้องกันโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ยา EVUSHELD สามารถลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 50-60 % โดยผู้ควรได้รับยา EVUSHELD อย่างเร็วที่สุดเมื่อทราบผลการติดเชื้อโควิด-19 และควรได้รับยาภายใน 7 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรแจ้งข้อมูลเบื้องต้นกับแพทย์ เช่น ประวัติการแพ้ยา ประวัติการรักษาโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร เป็นต้น
แฟ้มภาพ
- 2553 views