กรมควบคุมโรคย้ำแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสำหรับกลุ่มเสี่ยง - กลุ่มเปราะบาง ยังต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หลังรับวัคซีนโควิดไปแล้ว ควรมารับเข็มกระตุ้นต่อจนครบ  และค่อยมารับ LAAB เพิ่มเติม พร้อมเผยคำแนะนำการใช้ LAAB ฉบับปรับปรุง

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 5 ตุลาคม 2565 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดงานเสวนาวิชาการผ่านระบบออนไลน์ “ข้อมูลการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง”   โดย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ให้ข้อมูล ว่า  สำหรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ  Long Acting Antibody (LAAB)  ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว มีกลไกลการออกฤทธิ์ในการจับกับบริเวณโปรตีนหนาม ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ได้ โดยจากการผลการศึกษาพบว่า สามารถป้องกันโควิดแบบมีอาการได้ร้อยละ 83 เมื่อติดตามไป 6 เดือน สามารถลบล้างฤทธิ์ต่อทุกๆ สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน รวมถึง BA.4 และ BA.5 อย่างไรก็ตาม LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ร่างกายสามารถใช้ได้เลย ส่วนวัคซีนป้องกันโควิด เป็นสารที่นำเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ฉีดหรือกิน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้งภูมิต้านทานโรค ต้องรอประมาณ 2 สัปดาห์ในการสร้างภูมิคุ้มกัน  

“สิ่งสำคัญภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ไม่สามารถนำมาทดแทนการฉีดวัคซีนโควิด19  จึงแนะนำว่า กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานได้ หลังรับวัคซีนโควิดไปแล้ว ก็ควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อจนครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข  และค่อยมารับ LAAB เพิ่มเติมตามคำแนะนำแพทย์” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

 

โดย LAAB ฝาสีเทาเข้ม และสีขาว โดยมี 2 ชนิดขนาดยารวม 300 มก.  และจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกชนิดละข้าง ข้างละ 1.5 มล.โดยหลังฉีดผลข้างเคียงน้อยมาก ส่วนใหญ่ปวด บวม ส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 2-3 วัน  แต่แนะนำว่า หลังฉีด 1 ชั่วโมงต้องมีการติดตามอาการข้างเคียงอย่างใกล้ชิด    โดยกลุ่มที่ควรได้รับ LAAB คือ ผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป และผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนโควิด  

ปัจจุบันการใช้ LAAB  มีทั้งการป้องกันโควิด และการรักษา โดยการใช้เพื่อการป้องกันการติดเชื้อโควิดนั้น มีอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และประเทศไทย ส่วนประเทศที่ใช้ LAAB ในการรักษาโควิด19 แบบคนไข้นอก มียุโรป สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยในอนาคตอาจมีคำแนะนำการรักษาตามมา

สำหรับคำแนะนำการให้ LAAB  เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกรมควบคุมโรค ระบุว่าให้ใช้ได้ตั้งแต่ผู้ที่อายุมากกว่า หรือเท่ากับ 12 ปี มีน้ำหนัก 40 กิโลกรัม โดยกลุ่มเป้าหมาย กำหนดเป็นผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการปลูกถ่ายไต และได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการฟอกเลือด ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

ต่อมามีคำแนะนำฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน 2565  โดยเพิ่มเติมกลุ่มเสี่ยง คือ  ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบและโรคแพ้ภูมิตัวเอง   ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง  ผู้ป่วยตามข้อบ่งใช้ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย อนุมัติ และ ผู้ป่วยที่อาจมีภูมิคุ้มกันต่ำ  เป็นต้น   

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวตอบคำถามหากรับ LAAB ถ้าต้องการฉีดวัคซีนโควิดต้องเว้นระยะห่างอย่างไร ว่า  ไม่ได้มีข้อห้ามว่า ต้องเว้นระยะห่างเท่าไหร่  แต่ก็มีข้อมูลจากการศึกษากลุ่มย่อย โดยพบว่า คนไข้ที่รับ LAAB เมื่อมารับวัคซีนโควิดก็พบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นได้

 “ทั้งนี้  การศึกษาวิจัยการใช้ LAAB มีการรวบรวมข้อมูลจากคนอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่เด็กยังไม่มีการใช้ เพียงแต่มีการสร้างโมเดลและเทียบเคียงกับเด็กอายุน้อยลงมา เป็นวัยรุ่น จึงมีคำแนะนำให้ใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ และในเรื่องน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัมสามารถใช้ได้” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : อัปเดตข้อมูลก่อนตัดสินใจพาลูกหลาน 6 เดือนถึงน้อยกว่า 5 ปีฉีด "ไฟเซอร์ฝาแดงเข้ม" ต.ค.นี้)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org