ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามการให้บริการด้านการแพทย์แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดสระบุรี พบผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้รับผลกระทบ 405 ราย ติดบ้าน 31 ราย และติดเตียง 30 ราย กำชับสถานบริการในพื้นที่เสี่ยงติดตามสถานการณ์พร้อมให้บริการประชาชน 24 ชั่วโมง

 

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565  ที่โรงพยาบาลสระบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ.กฤษณ์ สกุลแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการให้บริการด้านการแพทย์แก่ผู้ประสบอุทกภัย ที่ รพ.สต.เชิงราก ต.เริงราง อ.เสาไห้ พร้อมให้กำลังใจบุคลากร และมอบยา เวชภัณฑ์ ถุงอุปโภค บริโภค ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นพ.โอภาส กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชนในชุมชน พื้นที่ ต.เริงราง อ.เสาไห้ ซึ่ง รพ.สต.เชิงราก มีน้ำท่วมขังบริเวณโดยรอบ แต่ยังสามารถเปิดให้บริการดูแลประชาชนได้ตามปกติ โดยภาพรวมของจังหวัดสระบุรี ระหว่างวันที่ 26 กันยายน  – 7 ตุลาคม 2565 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 12 อำเภอ 55 ตำบล 5,030 ครัวเรือน ได้จัดบริการทางการแพทย์ออกหน่วยเชิงรุก 108 ครั้ง จ่ายยาน้ำท่วม 3,544 ชุด มีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้รับผลกระทบ 405 ราย ติดบ้าน 31 ราย และติดเตียง 30 ราย ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์และให้การช่วยเหลือดูแลประชาชน ทั้งเชิงรับและเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ตลอด 24 ชั่วโมง

 

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทย ยังคงมีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 8 ตุลาคม 2565 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 23 จังหวัด สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 135 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง โรงพยาบาล 11 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 7 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 4 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 112 แห่ง โดยเปิดให้บริการปกติ 90 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 23 แห่ง และปิด/ย้ายจุดบริการ 17 แห่ง

 

ทั้งนี้ ได้ส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่ดูแลประชาชนต่อเนื่อง มีผู้เข้ารับบริการ 62,095 ราย พบเจ็บป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด 14,653 ราย รองลงมา โรคผิวหนัง ผื่นคัน 2,528 ราย และระบบทางเดินหายใจ 2,520 ราย และส่งทีม MCATT ดูแลเยียวยาจิตใจ จำนวน 43 ทีม มีผู้เข้ารับบริการ 21,026 ราย พบผู้มีภาวะเครียด 1,554 ราย ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษ พบสูงถึง 1,236 ราย ส่วนอาการซึมเศร้าพบ 192 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 10 ราย สูงสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งหมดได้รับการดูแลแล้ว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org