น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุบริการป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับหญิงไทยทุกอายุ ทุกสิทธิการรักษา ที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จากภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ครอบคลุมการให้บริการทั้งวิธีการใช้ยาหรือวิธีการทางศัลยกรรม โดยมีหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีศักยภาพในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาซึ่งลงทะเบียนกับกรมอนามัย จำนวน 144 แห่ง ครอบคลุม 23 จังหวัด
ทั้งนี้ การขอรับหรือการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เป็นไปตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 ซึ่งได้เผยแพร่ในในราชกิจจานุเบกษาเมื่อที่ 26 กันยายน 2565 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ ที่กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่หญิงนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์
น.ส.รัชดากล่าวว่า สปสช. ได้รวบรวมข้อมูลการบริการเพื่อป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งปีงบประมาณ 2565 มีหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการดูแล จำนวน 12,544 ราย และเพื่อเป็นการป้องกันภาวะการตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมถึงปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น กองทุนบัตรทองได้จัดสิทธิประโยชน์บริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร อาทิ การใส่ห่วงอนามัย การฝังยาคุมกำเนิด แก่ผู้หญิงหลังยุติการตั้งครรภ์ด้วย
“รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาจากการตั้งครรภ์ ที่ไม่พร้อมหรือไม่พึงประสงค์ โดยที่ผ่านมามีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยต้องประสบภาวะของการยุติการตั้งครรภ์อย่างไม่ปลอดภัย นำไปสู่อันตรายและเสียชีวิต หรือความผิดปกติหรือทุพพลภาพอย่างร้ายแรงของทารกที่จะคลอดออกมา” น.ส.รัชดากล่าว
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวอีกว่า สำหรับปีงบประมาณ 2566 นี้ สปสช.ได้เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่ร้านยา และยังขยายหน่วยบริการโดยให้สามารถไปรับบริการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ร้านยา คลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาล (เฉพาะบางรายการ) ที่เข้าร่วมโครงการ นอกเหนือจากการรับบริการที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการอื่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อีกทั้งเพิ่มการเข้าถึงสิทธิประโยชน์สำหรับบริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร ด้วยวิธีใส่ห่วงอนามัยและการฝังยาคุมกำเนิด จากเดิมที่ให้เฉพาะหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี และกรณีอายุมากกว่า 20 ปีเฉพาะหลังการยุติการตั้งครรภ์เท่านั้น เป็นให้สิทธิกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั้งหมด
- 810 views