มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แนะรัฐขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน เพิ่มเงินเด็กเล็ก ขึ้นค่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนกล้ามีลูก ย้ำ! ต้องมีสวัสดิการที่ดี ดูแลทั้งพ่อและแม่ จูงใจให้คนอยากมีลูก 

จากกรณีประชุมบอร์ดป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น เห็นชอบแผนลด "ท้องไม่พร้อม" ให้เหลือ 15 คนต่อพัน ต้องการเพิ่มการเกิดของประชากรให้ได้ 2.1 ต่อแสนประชากร หรือแม่ 1 คนควรมีลูก 2.1 คน อีกทั้งพยายามลดการเกิดที่ไม่มีคุณภาพ โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีกำหนดบริการเพื่อดูแลและป้องกันเด็กและเยาวชนหรือบุคคลที่ไม่ต้องการจะมีบุตรก่อนวัยอันควร

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ย้ำ! ปรับวิธีคิดชาย-หญิง ส่งเสริมการตั้งครรภ์คุณภาพ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาท้องไม่พร้อมกับ Hfocus ว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มีรายงานปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นน้อยลง แต่ก็ยังพบอยู่บ้าง ซึ่งแนวทางที่รัฐนำเสนอ มองว่า เป็นแนวทางที่ดี ขณะเดียวกันต้องมีการเพิ่มสวัสดิการ ควบคู่กับการรณรงค์ให้เปลี่ยนความคิดของคนในสังคมด้วย 

ปัญหาของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ส่วนใหญ่มาจากทัศนคติของคนในสังคมที่มองว่า เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์เป็นเด็กใจแตก เป็นเด็กที่นิสัยไม่ดี การหาแนวทางทำให้เด็กเกิดมามีคุณภาพ นอกจากลดอัตราการท้องไม่พร้อม ดูแลให้ตั้งครรภ์คุณภาพแล้ว ยังควรรณรงค์ปรับเปลี่ยนวิธีคิดคนในสังคมใหม่ เพราะการตั้งครรภ์แบบนี้มันเป็นปัญหาที่เด็กไม่มีความพร้อม ไม่มีความรู้เรื่องการป้องกัน หรือมีความรู้แล้ว แต่เป็นการมีเพศสัมพันธ์ที่มีอำนาจน้อยกว่าต่อรองไม่ได้ โดยเฉพาะด้านที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า

เพิ่มสวัสดิการดูแล เมื่อฝ่ายหญิงกลับไปเรียนหรือทำงาน

"การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องเข้าใจเด็ก รวมถึงปรับวิธีคิดทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ให้ไปด้วยกัน หากไม่ปรับวิธีคิดของผู้ชาย ผู้หญิงก็จะถูกใช้อำนาจแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ ทำแค่ฝ่ายหญิงฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งฮอร์โมนและสภาพจิตใจ หากไม่มีคนรอบข้าง ครอบครัวเข้าใจ หรือผู้ชายไม่ปรับวิธีคิด ก็จะมีปัญหาได้ ทำอย่างไรให้ผู้ชายเข้ามารับผิดชอบ เมื่อคลอดลูกแล้ว ฝ่ายชายก็ต้องช่วยกันดูแลลูกด้วย หากให้ฝ่ายหญิงรับผิดชอบอยู่ฝ่ายด้วยก็อาจจะไม่ใช่การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ หรือผู้หญิงที่เลือกจะตั้งครรภ์แล้วกลับมาอยู่กับครอบครัว พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ยังเป็นความคิดเดิมว่า ท้องไม่มีพ่อ" นายจะเด็จ กล่าว

เรื่องนี้ทั้งครอบครัวและสังคมก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด แต่เมื่อมีทางเลือกแล้วผู้หญิงไม่อยากตั้งครรภ์ ก็ต้องเข้าใจการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิงด้วย หากวันหนึ่งฝ่ายหญิงตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสือ หรือทำงาน ก็ต้องสนับสนุนและมีสวัสดิการพร้อมดูแล 

แนะขยายสิทธิวันลาคลอดเป็น 180 วัน 

เมื่อถามถึงการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ที่พบว่า 1 ปี มีผู้ใช้ยาประมาณ 3 หมื่นคน โดยพบว่า กลุ่มวัยรุ่นใช้เพียง 14% แต่เป็นผู้ที่มีความพร้อมในวัยอนามัยเจริญพันธุ์ใช้ถึง 86% นายจะเด็จ กล่าวว่า การทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้มีแค่วัยรุ่น มีอยู่ในวัยทำงานที่ไม่มีความพร้อม อาจคิดว่า เศรษฐกิจไม่ดี หรือไม่มีความพร้อมในด้านอื่น ๆ ด้วย จึงต้องเพิ่มสวัสดิการ เช่น

  • ขยายสิทธิวันลาคลอดเพิ่มจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน 
  • เพิ่มเงินเด็กเล็กให้ได้ทุกคนอย่างเท่าเทียม 
  • ให้ค่าใช้จ่ายดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์
  • เพิ่มเงินค่าคลอดบุตร 
  • เพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ได้มาตรฐานมีอย่างเพียงพอ
  • มีห้องให้นมในที่ทำงาน

เพิ่มสิทธิพ่อลาคลอดทั้งรัฐและเอกชน

"รัฐควรมองว่า ทำไมผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ถึงยุติการตั้งครรภ์ สวัสดิการต่าง ๆ ควรเร่งดูแล สิทธิการลาคลอดควรเพิ่มเป็น 180 วัน ตามหลักสากลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตอนนี้ขยับจาก 90 วันเป็น 98 วัน แต่พบปัญหาว่า การขยับเพิ่ม 8 วัน นายจ้างไม่จ่าย ซึ่งประเทศเวียดนามตอนนี้ลาได้ 180 วัน ประเทศสิงคโปร์ลาได้ 120 วัน ที่อื่นมีการเคลื่อนไหวแล้ว รวมถึงการให้สิทธิพ่อลาคลอดแล้วยังได้เงินเดือน ซึ่งข้าราชการได้สิทธิ 15 วัน แต่ยังไม่เพียงพอ ควรปรับให้ทั้งราชการและเอกชนมีสิทธิลาได้ ส่วนเงินเด็กเล็กควรได้มากกว่านี้ และมีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพได้มาตรฐานมากเพียงพอ" นายจะเด็จ กล่าวและว่า

เมื่อสวัสดิการพร้อม ประชาชนก็อยากตั้งครรภ์ เห็นได้จากหลาย ๆ งานวิจัยพบว่า การขยายสิทธิวันลาคลอดมากขึ้น ส่งผลให้ผู้หญิงอยากมีลูกมากขึ้น เพราะแม่ก็ต้องการอยู่กับลูกนาน ๆ หลังจากคลอดออกมา การเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ ให้มีความพร้อม จะช่วยสนับสนุนการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ให้เด็กเกิดมาอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ รัฐยังต้องขับเคลื่อนการขึ้นค่าแรง ที่ผ่านมา ค่าแรงขึ้นน้อยมาก เพื่อให้คนรู้สึกว่ามีอำนาจซื้อ ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น 

ย้ำ! ต้องกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น ให้คนกล้ามีลูก

นายจะเด็จ เสริมอีกว่า นอกจากการขยายสิทธิวันลาคลอดให้กับฝ่ายหญิงแล้ว ควรให้สิทธิวันลาคลอดกับฝ่ายชาย เพื่อช่วยดูแลลูกด้วย เพื่อให้ผู้หญิงได้พักฟื้นร่างกายให้แข็งแรง มีเวลาปรับสภาพจิตใจ หากผู้หญิงดูแลเพียงลำพังอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ ทั้งนี้ จากการพูดคุยในงานเสวนา “ขยายสิทธิลาคลอดเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร?” มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า ช่วงที่คลอดลูกใหม่ ๆ ต้องนำผ้าอ้อมเด็กไปที่ทำงานด้วย เพราะรู้สึกผูกพันกับลูกมาก ช่วงเวลาลาคลอดสั้นเกินไป 

หากไม่มีคนมาช่วยในการดูแลลูก หรือสามีไม่สามารถใช้สิทธิพ่อลาคลอดได้เลย อาจส่งผลให้ผู้เป็นแม่เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งอาการของแม่แต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป แม่บางคนทำร้ายลูกหรือแม่บางคนทิ้งลูก ก็เกิดจากความเจ็บป่วยด้านจิตใจ หรือเกิดจากการถูกกดดันจนรับไม่ไหว

ส่วนสิทธิการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ นายจะเด็จ ย้ำว่า แน่นอนว่าอำนาจการตัดสินใจในการตั้งครรภ์เป็นสิทธิของผู้หญิง เป็นสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ควรมีใครมาบังคับ รวมทั้งสังคมต้องเลิกค่านิยมชายเป็นใหญ่บังคับให้ตั้งครรภ์ หรือบอกว่า การทำแท้งเป็นบาป ทั้งนี้ การที่รัฐมีแนวนโยบายส่งเสริมการมีบุตรเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น การเพิ่มสวัสดิการจึงเป็นสิ่งที่รัฐควรทำเพื่อจูงใจในการส่งเสริมการมีบุตร รวมถึงการกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้คนตัดสินใจมีลูกมากขึ้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดข้อมูลใช้ยา "ยุติตั้งครรภ์" 3 หมื่นราย/ปี รัฐเดินหน้าเปลี่ยนทำแท้งเป็นท้องอย่างมีคุณภาพ