บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “สายด่วน 1663” เป็นหน่วยบริกาให้คำปรึกษา “ท้องไม่พร้อม” ในระบบบัตรทอง เพิ่มการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษากรณีท้องไม่พร้อม ลดอัตราท้องไม่พร้อมรายใหม่ และอัตราเสียชีวิตจากการยุติตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย พร้อมมอบ สปสช. ดำเนินการขึ้นทะเบียนและแจ้งประชาชนใช้สิทธิบัตรทองรับบริการต่อไป
ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระพิจารณาและเห็นชอบ “ข้อเสนอการกำหนดสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 กรณีหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกสำหรับการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม (สายด่วน 1663) นำเสนอโดย รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บอร์ด สปสช. วันที่ 3 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมาได้เห็นชอบให้บริการมิตรภาพบําบัด สายด่วนวัยรุ่น สายด่วนตั้งครรภ์ไม่พร้อม 1663 เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยใช้งบประมาณจากงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในปีงบประมาณ 2568 และในการประชุมครั้งนี้ก็ได้เห็นชอบให้สายด่วน 1663 เป็นหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกเพิ่มเติม สำหรับการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม
ทั้งนี้ สายด่วน 1663 อยู่ภายใต้การบริหารของ “มูลนิธิเข้าถึงเอดส์” โดยเริ่มดำเนินงานให้คำปรึกษาเรื่องโรคเอดส์เมื่อปี 2534 และได้เพิ่มบริการให้คำปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมในปี 2556 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการการให้คำปรึกษาปัญหาด้านการตั้งครรภ์หรือท้องไม่พร้อม เพื่อช่วยลดอัตรากรณีท้องไม่พร้อมรายใหม่ หรือการท้องไม่พร้อมซ้ำ ทั้งเป็นการช่วยลดอัตราการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยมีการส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการที่ให้การดูแลสอดคล้องกับปัญหา โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มหญิงที่มีปัญหาการตั้งครรภ์หรือท้องไม่พร้อม 2.บุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่พบปัญหาหญิงตั้งครรภ์หรือท้องไม่พร้อม
“ขอบเขตการให้บริการของสายด่วน 1663 จะเป็นหน่วยแรกรับหรือเป็นช่องทางสำหรับผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม รวมทั้งประสานส่งต่อผู้รับบริการไปยังหน่วยบริการต่างๆ ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการ ทั้งบริการด้านการแพทย์และด้านสวัสดิการสังคม ตลอดจนติดตามผลหลังจากส่งต่อไปรับบริการแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าปัญหาได้คลี่คลาดและไม่มีผลกระทบด้านสุขภาพและจิตใจ ซึ่งการติดตามผลนี้ ยังจะมีกระบวนการ Preventive Counseling เพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เป็นการลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้” นายสมศักดิ์ กล่าว
รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของสายด่วน 1663 ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา จากข้อมูลโดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มีผู้โทรเข้ามารับคำปรึกษาทั้งหมด 51,574 ราย แบ่งเป็นอายุน้อยกว่า 20 ปี 8,445 ราย ในจำนวนนี้เป็นการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม 96.4% และกลุ่มที่อายุมากกว่า 20 ปี อีกจำนวน 43,129 ราย ในจำนวนนี้เป็นการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม 84%
ทั้งนี้ การจัดบริการสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 นี้ เป็นหนึ่งในแผนการขยายหน่วยบริการ มาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านขององค์กรภาคประชาชน” เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงบริการ ด้วยการรับบริการบางอย่างที่มีความจำเพาะ จำเป็นต้องใช้กลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการจัดบริการที่ทำให้เกิดการเข้าถึง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งนำมาสู่การนำเสนอบอร์ด สปสช. เห็นชอบในวันนี้
“ตามที่บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบนี้ หลังจากนี้ สปสช. จะมีประสานกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งภายหลังจากที่ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง สปสช. จะแจ้งให้ประชาชนรับทราบในการใช้สิทธิบัตรทองเพื่อเข้ารับบริการสายด่วน 1663 ต่อไป” รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว
- 163 views