กรมอนามัยแจงกรณีประกาศยุติการตั้งครรภ์ ย้ำ! ต้องอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์มากกว่านั้นอันตราย! ชี้การยุติครรภ์ ส่วนใหญ่ท้องไม่พร้อม สิ่งสำคัญต้องเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ด้านสูตินรีแพทย์ มองอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ถือว่ามาครึ่งทางของทารกแล้ว ควรเน้นให้คำปรึกษาช่วยเหลือคุณแม่ให้สามารถตั้งครรภ์ต่อจนคลอดได้อย่างมีคุณภาพ
(ข่าวเกี่ยวข้อง : รายละเอียดประกาศข้อกำหนด “ยุติการตั้งครรภ์” ในหญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์)
เมื่อวันที่ 27 กันยายน นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวถึงกรณีประกาศกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ ในหญิงที่มีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ว่า กฎหมายยุติการตั้งครรภ์มีมาตั้งแต่ปี 2563 ที่อนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ของคนไข้ได้ จากกรณีที่มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงสิทธิเนื้อตัวร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์ที่สามารถตัดสินใจได้ โดยศาลฯ วินิจฉัยและมอบให้คณะรัฐมนตรีนำไปแก้ไขผ่านระบบสภาให้แล้วเสร็จใน 360 วัน จากนั้น ครม.ได้มีมติให้กระทรวงสาธารณสุข โดยมีคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแก้ไข ซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 301 ที่ระบุว่า หญิงใดที่ยุติการตั้งครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ไม่มีความผิด และแก้ไขมาตรา 305 ข้อบ่งชี้ในการตั้งครรภ์ จากเดิมข้อบ่งชี้ 2 ข้อ คือ มาตรา 305 (1) การตั้งครรภ์ทำให้มารดามีอันตรายถึงชีวิต มาตรา 305(2) กรณีถูกละเมิดทางเพศ ข่มขืนจนเกิดการตั้งครรภ์ ก็เพิ่มมาอีก 3 ข้อ คือ มาตรา 305 (3) หากตั้งครรภ์ต่อไปแล้วคลอดออกมาพบปัญหาทุพพลภาพร้ายแรง เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ผิดปกติของอวัยวะ มาตรา 305(4) การยุติการตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 12 สัปดาห์สามารถทำได้ โดยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทางแพทยสภาได้ออกเกณฑ์การปฏิบัติแล้ว
ประเด็นสำคัญของประกาศกระทรวงฯ ฉบับล่าสุด คือ มาตรา 305(5) กรณีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องมีการปรึกษาแพทย์และมีทางเลือกให้มารดาว่าจะทำหรือตั้งครรภ์ต่อ มีการคุยถึงวิธีการทำ และการดูแลหลังการทำ รวมถึงกรณีเด็กนักเรียนที่ต้องได้รับการดูแลจากโรงเรียนต่อ ทั้งนี้ กรณีผู้ที่เปลี่ยนใจและตั้งครรภ์ต่อ ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการในนโยบาย เด็กท้องต้องได้เรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องมีระบบทำให้เด็กจบตามกำหนด ไปจนถึงความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จะเข้ามาดูแลเด็กเดือนละ 2,000 บาท หรือหากเป็นการละเมิดทางเพศ กระทรวงยุติธรรมก็ต้องเข้ามาดูแล ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยมีมาก แต่มักทำใต้ดิน ซึ่งอันตราย อย่างไรก็ตามกรณีที่เข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษาพบว่ากว่า 50% เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อจนคลอดก็จะมีการดูแลต่อ
“ผู้ที่จะยุติครรภ์ตาม (5) ต้องไปพบแพทย์ ได้รับคำแนะนำ ทางเลือก ได้คำปรึกษาจากผู้ที่ถูกกำหนด เช่น พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่คนไข้ 80% ที่ยุติการตั้งครรภ์ จะมาก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ส่วนอีก 20% ที่มาหลังอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ส่วนใหญ่ตอนแรกตั้งใจจะตั้งครรภ์ แต่เปลี่ยนใจ เช่น สามีทิ้งไปตอนอายุครรภ์ 3-4 เดือนแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการ (5) ได้” นพ.พีระยุทธ กล่าว
ส่วนกรณีแพทย์ ไม่ได้มีการบังคับว่าจะต้องทำการยุติการตั้งครรภ์ให้ตามที่มีการร้องขอ แพทย์สามารถปฏิเสธที่จะไม่ทำได้ แต่ต้องดำเนินการส่งต่อ หากไม่ส่งต่ออาจจะมีความผิดตามข้อบังคับของแพทยสภา เพราะรู้ว่าหากปล่อยผู้ป่วยออกไปเช่นนั้นอาจะเลือกยุติการตั้งครรภ์แบบผิดกฎหมาย ซึ่งอันตราย
เมื่อถามย้ำว่าข้อ (5) เป็นกฎหมายรองรับหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมหรือไม่ นพ.พีระยุทธกล่าวว่า ใช่ สำหรับอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ไม่ใช่มาตัดสินใจไม่พร้อมตอนอายุครรภ์ 6-7 เดือนแล้ว แบบนี้ไม่ได้ มีความอันตรายในการยุติการตั้งครรภ์ ฉะนั้น อายุครรภ์ยิ่งน้อย ยิ่งปลอดภัย
เมื่อถามถึงความเห็นของหลายฝ่ายที่มองว่าการยุติการตั้งครรภ์ ตอนอายุครรภ์มากแล้ว เสมือนการฆาตกรรม รัฐบาลควรจะสนับสนุนในด้านอื่นแทนหรือไม่ นพ.พีระยุทธ กล่าวว่า ต้องชั่งน้ำหนัก แม้ว่าจะเป็นตัวเป็นตนแล้ว แต่ทางการแพทย์เกณฑ์การคลอดนั้น หากคลอดทารกออกมาตอน 20 สัปดาห์ อวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต ปอด ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ทารกในครรภ์ต้องอายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์เป็นต้นไป จึงจะถือเป็นการคลอดแบบมีชีวิต โดยทางโรงเรียนแพทย์จะยึดที่ 24 สัปดาห์หรือ 6 เดือนขึ้นไป
ด้าน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ รพ.ศรีสุโข จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า กรณีประกาศกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ ในหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 - 20 สัปดาห์ ได้ ตนมองว่าอายุครรภ์ขนาดเท่านั้นถือว่ามาครึ่งทางของทารกแล้ว อีกไม่กี่สัปดาห์ก็คลอดแล้ว แล้วปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์มีความก้าวหน้าสามารถเลี้ยงทารกที่คลอดก่อนกำหนดให้มีโอกาสรอดได้มากขึ้น ดังนั้นกรณีเช่นนั้น ส่วนตัวมองว่าควรเน้นเรื่องการให้คำปรึกษาช่วยเหลือคุณแม่ให้สามารถตั้งครรภ์ต่อจนคลอดได้อย่างมีคุณภาพ แล้วให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจากข้อมูลกว่า 80% ของผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์เพราะมีปัญหาทางการเงิน เศรษฐกิจครอบครัว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 131330 views