กรมควบคุมโรคเผยหลังจากปิดศูนย์ EOC ระดับกระทรวงฯ เหลือแต่กรมควบคุมโรค การดำเนินงานปรับเปลี่ยน ลดระดับคำสั่งต่างๆ ส่วนการเตือนภัยโควิดเหลือระดับ 1 ถือว่าปกติ หากสถานการณ์เปลี่ยนพร้อมปรับได้ ย้ำ! การรายงานติดเชื้อจะปรับสัปดาห์หน้า ไม่มีรายงานอัตราครองเตียง จะเหลือกรณีผู้ป่วยติดเชื้อเป็นรายสัปดาห์

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 29 กันยายน  นพ.จักรรัฐ  พิทยาวงศ์อานนท์  ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวภายในการอบรมออนไลน์เตรียมความพร้อมสำหรับช่วง Post Pandemic  ซึ่งจัดโดยกองวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC)กรณีโรคโควิด -19  ของกระทรวงสาธารณสุขได้จบภารกิจไปแล้ว และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป  ศูนย์อีโอซี จะเหลือแต่ของกรมควบคุมโรคเท่านั้น  ซึ่งจะมีการอัปเดตสถานการณ์ทุกสัปดาห์ผ่านแดชบอร์ดของกรมควบคุมโรค และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ.จะตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์ และมาตรการต่างๆ รวมถึงผลที่อาจเกิดขึ้นหลังจากโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง โดยจะประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ติดตามกันยาวๆ ไปก่อน

นพ.จักรรัฐ  กล่าวว่า สำหรับการรายงานข้อมูลการติดเชื้อโควิดนั้น ภายในสัปดาห์หน้าจะรายงานปรับเป็นรายสัปดาห์ โดยข้อมูลวันที่ 29 ก.ย.2565  มีผู้ป่วยรายใหม่ 637 ราย ตกประมาณเฉลี่ย 600-1,000 รายต่อวันจากทั้งประเทศ ส่วนติดเชื้อรายสัปดาห์(สัปดาห์ที่ 38 วันที่ 18-24 ก.ย.65) อยู่ที่ประมาณ 4,787 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนๆ เสียชีวิตก็ลดลง   ส่วนเรื่องอัตราการครองเตียงระดับ 2 และ 3นั้น  

"ในสัปดาห์หน้าจะไม่มีการรายงานอัตราการครองเตียงแล้ว โดยตอนนี้อยู่ที่ 7.4% ของเตียงทั้งหมด  สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อจะยังมีรายงาน ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  คือ OPSI และการรักษาที่บ้าน ซึ่งรวมกันเหลือประมาณ 81,258 ราย ลดลงต่อเนื่อง แต่ลงไม่เร็ว เพราะหลายจังหวัดมีการติดเชื้อเรื่อยๆ แต่ตอนนี้เรามีภูมิคุ้มกันเกิน 92% จาก 17 จังหวัด ตรวจหาภูมิฯ ประมาณเกือบ 2 หมื่นคน" ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าว

ส่วนผู้เสียชีวิต 89 ราย เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม 607 อายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ส่วนหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้มีรายงานเข้ามาหลายเดือนแล้ว ทั้งนี้พบว่าประมาณ 50% ฉีดไปเข็มเดียว หรือไม่ได้ฉีดเลย  อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลนั้น พบว่า การแอดมิทหลายจังหวัดมีเพียง 1-2 คนต่อวัน ถือว่าน้อยมาก ซึ่งจะติดตามเรื่อยๆ และจากการคาดการณ์การระบาดปี 2566 ก็จะคล้ายไข้หวัดใหญ่ และโควิดหากไม่เปลี่ยนสายพันธุ์มาก ก็จะมีเคสไม่มาก  

ทั้งนี้ คาดการณ์ได้ 2 ฉากทัศน์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้แนะนำว่า ต้องถอดหน้ากากหรือสวมหน้ากาก แต่ขึ้นกับบุคคล สิ่งสำคัญคือ หากป่วยต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ โดยหลักต้องปฏิบัติตาม DMHT ส่วนการตรวจ ATK ขอให้ตรวจเมื่อมีอาการ ซึ่งหากปฏิบัติตามนี้สถานการณ์ก็จะอยู่ในเส้นสีเขียว คือ ติดเชื้อไม่มาก แต่หากไม่ทำ และถอดหน้ากากกันมากก็จะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น  ส่วนการเสียชีวิตนั้น ตัวเลขก็จะล้อตามกันไป

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับระดับการเตือนภัย เมื่อเป็นโรคโควิดที่ต้องเฝ้าระวัง เราจะปรับเป็นระดับที่ 1 คือ ระดับปกติ  อย่างไรก็ตาม ส่วนการคาดการณ์ปี 2566 นั้น อาจพบการระบาดในลักษณะที่เพิ่มขึ้นและลดลงตามฤดูกาล โดยเสนอรพ.ทุกแห่ง รายงานผู้ป่วยรักษาใน รพ. และผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิด ผ่านระบบ API และปรับเพิ่มในระบบรายงานโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป โดยจังหวัด และเขตสุขภาพ ตรวจสอบข้อมูลและตรวจับการระบาดของโรคด้วย สิ่งสำคัญ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และปอดอักเสบยังจำเป็นต้องรายงานในระบบ Co-Ward

ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวอีกว่า  จากนี้เมื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคโควิด-19  กรณีเป็นคลัสเตอร์ ก็จะมีการสอบสวนโรค ส่วนจะควบคุมโรคนั้น ไม่มีอำนาจในการให้แยกกัก แต่จะขอความร่วมมือ อยู่แต่ละพื้นที่ ซึ่งหากพบระบาดหนักในพื้นที่ให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. พิจารณาระบาดเฉพาะพื้นที่ได้    นอกจากนี้  การลดระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแก้ข้อสั่งการ รวบรวมและจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ และคำแนะนำสำหรับประชาชน ให้เป็นปัจจุบัน เช่น การยกเลิกใช้แอป ไทยชนะ การสวมชุด PPE การออกใบรับรองแพทย์ การ WFH รวมถึงแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเท เป็นต้น

"นอกจากนี้ ยังเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. พิจารณาปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค  ทบทวนคำสั่งจังหวัด รวมทั้งเน้นให้มีการดำเนินการฉีดวัคซีนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอให้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในพื้นที่" นพ.จักรรัฐ กล่าว
 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org