กรมอนามัยแจงรายละเอียดหลัง 1 ต.ค. 65 โควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง  กิจการร้านค้าต่างๆ ในพรบ.สาธารณสุข 142 ประเภท ยังต้องปฏิบัติ Thai Stop COVID  2Plus  โดยเฉพาะผู้ปรุงอาหารต้องรักษาความสะอาด สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช่ป้องกันแค่โควิด แต่ป้องกันสิ่งปนเปื้อนปะปนระหว่างประกอบอาหาร เพื่อสุขอนามัยที่ดี ขอร้านอาหาร เจ้าของกิจการเข้มดูแลเรื่องนี้  ยังแนะนำให้สวมแมสก์ เมื่อใช้บริการรถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือรถขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย  แถลงมาตรฐานด้านสุขอนามัย สุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับสถานประกอบกิจการ ในวันที่โควิด 19 เปลี่ยนผ่าน เข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ว่า  ช่วงที่โควิดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ รวมทั้งมีพ.ร.บ.การสาธารณสุข  นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือใช้ควบคุมสถานประกอบการต่างๆ คือ Covid Free Setting  แต่หลังจากวันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป โควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ยังคงมีพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และพ.ร.บ.การสาธารณสุข รวมถึงกฎหมายอื่นๆที่มีอยู่เดิมในการควบคุมสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะสถานที่จำหน่ายอาหาร และ 142 ประเภทกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งหมดจะผ่านการพิจารณาติดตามโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น

 

นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า ในมาตรการ Thai Stop COVID  2Plus ของกรมอนามัยยังคงมี เพียงแต่บางอย่างอาจมีการผ่อนคลายตามสถานการณ์ และประกอบกับโควิดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงยังต้องมี Thai Stop COVID  2Plus  ทั้งนี้ สำหรับกิจการตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การสาธารณสุข จะมี 142 ประเภท อยู่ในหมวด 7 ยกเตัวอย่าง กิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง กิจการที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม น้ำดื่ม กิจการเกี่ยวข้องกับยา เวชภัณฑ์ ที่สำคัญกิจการที่เกี่ยวกับการบริการ เช่น กิจการสปาเพื่อสุขภาพ  อาบอบนวด กิจการโรงแรม หอพัก สระว่ายน้ำ กิจการที่จัดให้มีการแสดงดนตรี เต้นรำ คาราโอเกะ ดิสโก้เทค  กิจการที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน กิจการเลี้ยงดูแลเด็กที่บ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ในหมวดที่ 8 ของพ.ร.บ. ยังมีเรื่องตลาด สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร เช่น ตลาด ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารทั้งที่ไม่มีและมีการจำหน่ยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่ยังต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.สาธารณสุข

สำหรับมาตรฐานด้านสุขอนามัย สุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สถานประกอบกิจการควรปฏิบัติ และยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม การระบายอากาศภายใน จัดให้มีอุปกรณ์ล้างมืออย่างเพียงพอ ดังนั้น ร้านค้ายังต้องจัดเจลแอลกอฮอล์ ที่ล้างมือ   ด้านพนักงาน/ผู้ปฏิบัติงาน สิ่งที่เน้นคือ ในสถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวนมากๆ ควรมีการคัดกรองว่า มีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ หากมีรายงานว่ามีการเจ็บป่วยจำนวนมาก ก็ควรต้องปฏิบัติตามมาตรการโควิด19 และควรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ ขณะนี้เน้นในเข็มที่ 3 เป็นเข็มกระตุ้น ที่สำคัญหากพนักงานพบว่าตัวเองเสี่ยง หรือมีอาการป่วยควรตรวจ ATK เราไม่ได้บังคับว่า ความเสี่ยงต่ำต้องตรวจหมด ตอนนี้ให้ดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ เราต้องประเมินความเสี่ยงตัวเองก่อนเข้าทำงาน ซึ่งสามารถประเมินผ่านแอปฯ Thai Save Thai 

ส่วนคำแนะนำสำหรับประชาชนที่เข้ารับบริการ หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก  ควรรักษาตัวในที่พัก แต่หากจำเป็นต้องออกมาขอย้ำมาตรการสูงสุด คือ สวมหน้ากากอนามัย อย่าไปอยู่ในสถานที่แออัด  ขณะที่ประชาชนทั่วไปหากต้องเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย

 
"กรณีหากอยู่ในรถสาธารณะ รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า หากเว้นระยะห่างได้ก็แนะนำ หากทำไม่ได้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งบนเครื่องบินขณะนี้ยังให้สวมหน้ากากอนามัยอยู่ ขณะที่การล้างมือบ่อยๆ ยังแนะนำให้ปฏิบัติ" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว 

นพ.เอกชัยกล่าวอีกว่า สิ่งที่ยังต้องเน้นย้ำคือ ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตมี 97% อยู่ในกลุ่ม 608 ดังนั้น กลุ่ม 608 ทั้งผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  ขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์  และหากต้องไปร่วมกิจกรรมในห้องอากาศปิด สถานที่แออัด ขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลา

ทั้งนี้ กรมอนามัยได้สำรวจอนามัยโพล เกี่ยวกับมาตรการที่ควรทำต่อไปแม้โควิดจะเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง  โดยสำรวจช่วงเดือนม.ค.-ก.ย.65 จำนวน 274,400 คน พบว่า อันดับ 1 เห็นว่ายังต้องเฝ้าระวัง และต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างต่อเนื่อง คือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะหว่าง อันดับ 2 การจัดสถานที่ให้มีจุดล้างมือ หรือเจลล้างมือ และการระบายที่ดี และอันดับ 3 ทำความสะอาด และจัดการด้านสุขาภิบาลของสถานที่ต่างๆ 

"สำหรับคำถามว่า หลังวันที่ 1 ต.ค.2565 จะใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมได้หรือไม่ ต้องบอกว่า ขณะนี้สถานการณ์จากวันนั้นถึงวันนี้เกิดยุคที่เรียกว่า นิวนอร์มอล  (New Normal) การสวมหน้ากากอนามัย ถือเป็นสุขอนามัยที่ดี เพราะนอกจากป้องกันโรคทางเดินหายใจแล้ว ยังป้องกันมลพิษ ฝุ่นละออง หลายคนอาการโรคภูมิแพ้จากฝุ่นละอองก็ดีขึ้น ดังนั้น จะเหมือนเดิมหรือไม่ก็อาจไม่ เพราะการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนดีขึ้น" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ปรุงอาหารยังจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อความสะอาดหรือไม่ และกรมอนามัยจะออกประกาศแนะนำเรื่องนี้อย่างไร นพ.เอกชัย กล่าวว่า ยังเน้นย้ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาหารต้องปฏิบัติมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งล้างมือก่อนปรุงอาหาร หรือหลังเข้าห้องน้ำ และควรมีถุงมือในการหยิบจับอาหาร และควรมีผ้ากันเปื้อน สวมหมวก และหน้ากากอนามัยสำคัญมาก ต้องป้องกันไม่ให้สิ่งต่างๆ ในตัวท่านปนเปื้อนกับอาหารได้ และขอให้เจ้าของร้านอาหารควบคุมดูแลเรื่องนี้ ในส่วนผู้ปรุงอาหารที่บ้านก็ควรปฏิบัติเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยความสะอาด ถูกสุขอนามัยด้วย

เมื่อถามว่าหากพนักงานเสิร์ฟ ไม่ใส่หน้ากาก โดยระบุว่าไม่มีการบังคับแล้ว นพ.เอกชัย กล่าววว่า อาจจะอ้างได้ แต่หากมีการร้องเรียนเข้ามา หรือเกิดการระบาดขึ้นจะถือว่ามีความผิด ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการกำกับตรงนี้ คงพิจารณาตามความเหมาะสมว่าหากเป็นร้านเปิดโล่ง อาจจะไม่ใส่ หากเป็นห้องแอร์ไม่ใส่อาจจะอันตราย 

เมื่อถามย้ำว่าต้องมีการออกประกาศหรือไม่ว่าผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อรองรับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ นพ.เอกชัย ขณะนี้กำลังคุยกัน แล้วกระทรวงสาธารณสุขจะมีประกาศข้อกำหนดให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม และกรมอนามัยก็จะออกคำแนะนำประกอบประกาศสธ. เพิ่มเติม คงไม่เหมือนเดิมที่จะให้ทำอิสระเสรี ส่วนกลไกกำกับติดตามก็ยังมีทีมเจ้าหน้าที่สธ. และท้องถิ่นรวมมือกัน  ทั้งนี้ประกาศพยายามทำให้ทันภายใน 1 ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าคือสัปดาห์แรกของเดือนต.ค.  

เมื่อถามต่อว่าขณะนี้มีการมองว่าประเทศไทย MOVE ON ไม่จริง เนื่องจากหลายประเทศ มีการเลิกสวมหน้ากากกันในกิจกรรมกิจการต่างๆ แต่ประเทศไทยบอกว่าไม่มีการกลับไปแบบเดิม 100 % นพ.เอกชัย กล่าวว่า เพราะเรายังมองว่าโควิด – 19 ยังมีโอกาสพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ คล้ายไข้หวัดใหญ่ ระบาดเป็นระลอกๆ การสวมหน้ากากก็จะช่วยลดตรงนี้ได้  เข้าใจว่ามีการเปรียบเทียบกับประเทศที่เลิกสวมหน้ากากแล้วหลายๆ ประเทศ แต่ก็อยากให้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ยังสวมหน้ากากด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการสวมหน้ากากมานานก่อนโควิด พอถึงฤดูไข้จากละอองเกสร เขาก็สอนกันมาว่าคนมี ความเสี่ยงควรสวมหน้ากาก ส่วนตนตามที่แถลงก็ไม่ได้บอกว่า ทุกคนที่ปกติต้องใส่หน้ากากกันหมด หากเป็นคนปกติ สุขภาพดีเมื่อออกมาอยู่ในพื้นที่อากาศปลอดโปร่งก็ไม่จำเป็นต้องใส่ แต่หากเป็นกลุ่ม 608 สุขภาพไม่ดี มีความเสี่ยงยังแนะนำว่าหากไปอยู่ที่แออัดต้องใส่เลย วันนี้ประเทศไทยไม่ได้บังคับแล้ว แต่ล่าสุดจากการสำรวจอนามัยโพลครั้งล่าสุด ก็ยังต้องการใส่หน้ากากกว่า 80 % เทียบกับเดือน ก.ย.-ส.ค. ลดลงเพียง 1 %

 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org