กรมการแพทย์เสนอร่างแนวทางรักษาโควิดฉบับปรับปรุง  รองรับโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค.65 เตรียมเสนออีโอซี สธ.พิจารณา ย้ำ! แนวทางล่าสุดบ่งชี้ชัด ถ้าไม่มีอาการ ไม่ให้ยาต้านไวรัส  หากมีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงให้ยาตัวใดตัวหนึ่งขึ้นกับดุลพินิจแพทย์ ทั้งแพกซ์โลวิด เรมดิซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี รักษาตามอาการ หรืออาจพิจารณาฟาวิฯ เป็นเวลา 5 วัน ไม่แนะนำให้แพกซ์โลวิดและโมลนูฯ

 

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2565    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมภายในการแถลงข่าวเตรียมความพร้อม การป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข หลัง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - ยุบ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย 2565 เป็นต้นไป ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน  ว่า ขณะนี้มีแนวทางการรักษาโควิด-19 ฉบับปรับปรุงล่าสุด  ซึ่งนับตั้งแต่มีโรคโควิดระบาดเป็นเวลา 2 ปีกับอีก 9 เดือน มีไกด์ไลน์หรือแนวทางการรักษาโควิดมาโดยตลอด มีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอด้วยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง โดยฉบับล่าสุดเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 26

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. ขอปชช. เชื่อมั่นมาตรการรองรับ โควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค.  ยันรักษาฟรีตามสิทธิ์  - ฉีดวัคซีนเข็ม 4 เป็นอย่างต่ำ)

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  โดยแนวทางการรักษาฉบับปรับปรุงครั้งนี้ ณ วันที่ 25 ก.ย.2565 จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมอีโอซี หรือศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ และหากผ่านการพิจารณาจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป  โดยหลักประกอบด้วย

1.หากติดเชื้อไม่มีอาการ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน

2.หากป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน

3.หากป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือโรคร่วมให้พิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์ ว่าจะแอดมิดหรือไม่

 

ส่วนแนวทางการจ่ายยารักษาโควิด-19  แบ่งเป็น

1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการก็จะไม่ให้ยาต้านไวรัส

2.ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือถ้าให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ควรเริ่มให้โดยเร็วที่สุดภายใน 3-4 วัน

3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง  พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่งอยู่ที่ดุลยพินิจแพทย์ โดยให้ยาแพกซ์โลวิด/เรมดิซิเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ (Paxlovid/Remdesivir/Molnupiravir) ภายใน 5 วัน ส่วนเรมดิซิเวียร์ต้องให้ภายใน 3 วัน แต่กลุ่มนี้จะไม่ได้รับฟาวิพิราเวียร์

สำหรับการรักษาโควิดในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปีให้ดูแลรักษาตามอาการ  แต่หากป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5 วัน ส่วนกรณีอายุเกิน 18 ปี อาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงจะให้เรมดิซีเวียร์แทน แต่ต้องให้ภายใน 3 วันแรก หรือ ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ภายใน 5 วัน หรือแพกซ์โลวิด 5 วัน   ส่วนคนที่ปอดอักเสบจะให้เรมดิซีเวียร์ 5-10 วัน กรณีไม่มีปัญหาการกินยาหรือดูดซึมอาจให้แพกซ์โลวิด

“สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ไม่แนะนำยาแพกซ์โลวิด และโมลนูพิราเวียร์ เนื่องจากงานวิจัยในต่างประเทศไม่ยืนยันความปลอดภัย แต่หากมีปัจจัยเสี่ยง โรคร่วมให้แพทย์พิจารณาใช้เรมดิซิเวียร์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีผู้ปกครองกังวลและพาไปรักษาที่ รพ.เอกชน จะมีการใช้ยาเกินความจำเป็นหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตรงนี้น่าห่วง เนื่องจากหากใช้ยาไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ อาจเป็นการใช้ยาแบบโอเวอร์โดสได้ ดังนั้น ขอให้ปฏิบัติตามแนวทางรักษาโควิดที่ออกโดยผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีการรวบรวมข้อมูลวิจัยต่างๆ ไว้แล้ว และมีการอัปเดตอยู่เสมอ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org