สปสช. เขต 13 กทม. นำร่องออกหน่วยรถโมบายทันตกรรมเคลื่อนที่ ส่งเสริม-ป้องกันเชิงรุกในโรงเรียนเอกชน กทม. คัดกรองฟัน-ตรวจฟัน-เคลือบฟลูออไรด์ เด็กป.1-6 พร้อมเสริมความรู้การดูแลฟันป้องกันฟันผุ ระบุ เริ่มนำร่อง กทม. ก่อน เตรียมขยายต่อทั่วประเทศหากสำเร็จ 

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เยี่ยมชมบริการออกหน่วยรถโมบายสำหรับให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ ตรวจคัดกรองจากคลินิกทันตกรรมบางกอกสไมล์ สาขาพระโขนง ณ โรงเรียนนิธิปริญญา เขตดินแดง กทม. จำนวน 110 คน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 

สำหรับการให้บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันเชิงรุกในโรงเรียนเอกชนพื้นที่ กทม. มีเป้าหมายในการตรวจคัดกรองในโรงเรียนสังกัดเอกชนทั้งหมด 98,400 คน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป  

นายวรุตม์ เสริมศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนนิธิปริญญา เขตดินแดง เปิดเผยว่า สำหรับโรงเรียนนิธิปริญญามีเป้าหมายให้เด็กมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง มีสุขอนามัยและพัฒนาการที่ดี ซึ่งการตรวจฟันรวมไปถึงการรักษาสุขภาพตั้งแต่หัวจรดเท้าจะมีการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบผ่านครูประจำชั้นทุกเดือนอยู่แล้ว และครูประจำชั้นก็จะสรุปผลการร่วมมือให้ทราบทุกเดือน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ปกครองของเด็กทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 

อย่างไรก็ดี ทางโรงเรียนจะมีการตรวจฟัน เล็บ ฯลฯ เด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน ซึ่งก็ได้มีการสอนให้เด็กแปรงฟันหลังรับประทานอาหารกลางวันเป็นประจำ ส่วนในเด็กเล็กก็จะมีการแปรงฟันก่อนนอนกลางวันเช่นกัน เพื่อให้เด็กรู้จักการรักษาสุขภาพฟัน ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเนื่องจากเป็นหน้าที่ที่ทราบอยู่แล้ว 

ทพ.เสริมสกุล วงศ์ถิรพร กรรมการผู้จัดการคลินิกทันตกรรมบางกอกสไมล์ เขตพระโขนง กล่าวว่า การออกหน่วยรถโมบายทันตกรรมเคลื่อนที่ที่คลินิกบางกอกสไมล์ ร่วมกับ สปสช.เขต 13 กทม. เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากที่ได้มีการพูดคุยมาระยะหนึ่ง ซึ่งการให้บริการในโรงเรียนจะเน้นเรื่องการป้องกันเป็นหลัก เช่น การเคลือบฟลูออไรด์ การตรวจฟัน การเคลือบหลุมร่องฟัน ฯลฯ ซึ่งผู้ปกครองจะต้องรับทราบและยินยอมก่อน หากตรวจพบว่าเด็กมีฟันผุก็จะมีการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเพื่อทำการรักษาต่อไป 

ขณะเดียวกัน สปสช. ก็มีโครงการบริการทันตกรรมเชิงรุกตามโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่วนตัวเข้าใจว่าการให้บริการเป็นไปได้ยากขึ้น จึงคิดว่าถ้าสามารถนำรถทันตกรรมเคลื่อนที่ออกให้บริการตามโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้รับบริการก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

“ไม่ใช่แค่หน่วยงานเราหน่วยงานเดียวในโครงการนี้ จริงๆ แล้วยังมีการทำระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ซึ่งต้องยอมรับว่าจำนวนเด็กนักเรียนใน กทม. เยอะมากจนทำไม่ไหว ฉะนั้นถ้ามีคนเข้ามาร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรัฐและเอกชน ผมเชื่อว่าตรงนี้จะสามารถผลักดันได้ดีขึ้น” ทพ.เสริมสกุล ระบุ 

ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. กล่าวว่า บริการทันตกรรมในโรงเรียนเป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. ทำขึ้นเพื่อนักเรียนเป็นการเฉพาะ ซึ่งมี 3 รายการที่สนับสนุน ได้แก่ การตรวจฟันพร้อมแจกแปรงสีฟันเด็ก การเคลือบฟลูออไรด์ และการเคลือบหลุมร่องฟัน แต่เนื่องจากบุคลากรในเขต กทม. มีข้อจำกัด เพราะคนที่ให้บริการได้จะต้องเป็นทันตแพทย์ หรือทันตาภิบาลที่ส่วนมากจะตั้งรับอยู่ในโรงพยาบาล จะเหลือเพียงแค่ทันตแพทย์ ทันตาภิบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จำนวน 69 แห่งเท่านั้นที่สามารถจัดบริการเชิงรุกได้ 

ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าวว่า จึงมีความจำเป็นต้องขอความร่วมมือกับคลินิกเอกชนเข้ามาจัดบริการ แต่ที่ผ่านมาการเข้าร่วมในการจัดบริการของคลินิกเองยังค่อนข้างน้อย จึงดูความเป็นไปได้ของรถทันตกรรมเคลื่อนที่ที่มีอุปกรณ์พร้อม และสามารถให้บริการอื่นๆ ได้ เพราะถ้าเป็นคลินิกที่ไม่มีรถเคลื่อนที่จะอนุญาตให้ทำแค่ตรวจสุขภาพช่องปากในโรงเรียนเท่านั้น เมื่อตรวจเสร็จก็จะต้องให้ผู้ปกครองพาเด็กไปทำฟันที่คลินิกเอง ซึ่งผู้ปกครองอาจจะไม่มีเวลาพาไป ฉะนั้นจึงคิดว่าเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการจัดบริการเชิงรุกในโรงเรียน

“ขณะนี้มีคลินิกที่มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่ที่พร้อมให้บริการอยู่ 1 แห่งใน กทม. และคลินิก 2-3 แห่งในต่างจังหวัดที่พร้อมเข้ามาให้บริการในพื้นที่ กทม. ซึ่งคิดว่าในปีงบประมาณ 2566 น่าจะได้รับความร่วมมือจากคลินิกนอก กทม. เข้ามาจัดบริการเพิ่มขึ้น” ดร.ทพ.วิรัตน์ กล่าว 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หากพบว่ามีฟันแท้ขึ้นแล้ว เมื่อฟันผุจะไม่สามารถย้อนกลับไปได้ แม้จะมีระยะเวลาก่อนฟันผุ ฉะนั้นหากดูแลฟันแท้ซี่แรกที่ขึ้นมาได้ดี และป้องกันตั้งแต่ต้นจะทำให้มีโอกาสได้ใช้ฟันธรรมชาตินานขึ้น ฉะนั้น สปสช.จึงมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะด้านทันตกรรม และจะเข้มข้นขึ้นใน พ.ศ. 2566 

ทั้งนี้ การออกรถโมบายทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับการส่งเสริมและป้องกันเชิงรุกจะเริ่มนำร่องที่ กทม. ก่อน หากเริ่มตรวจเชิงรุกใน กทม. ซึ่งในขณะนี้มีรถทันตกรรมเคลื่อนที่แล้ว 2 คัน สำเร็จ หรือได้รับความนิยมก็จะมีการขยายออกไปทั่วประเทศ 

“ถ้าให้เด็กไปพบทันตแพทย์อาจจะมีความยาก เนื่องจากบางครั้งอาจจะติดเรียน ผู้ปกครองไม่มีเวลาพาไป ฯลฯ แต่ถ้านำบริการไปหาประชาชน นำทันตแพทย์เข้าไปหานักเรียนที่โรงเรียนซึ่งเป็นจุดที่นักเรียนอยู่และเด็กก็จะไม่เสียการเรียน วิธีนี้จะทำให้การเข้าถึงดีขึ้น และทำให้การสร้างเกิดประโยชน์มากกว่าการซ่อม” ทพ.อรรถพร ระบุ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand