ปลัด สธ.  ชี้หลัง ต.ค. 65  เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง  จะต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกหรือไม่ ขึ้นกับศบค.พิจารณา เพราะยังมีความจำเป็นในการดูแลด้านอื่นๆ พร้อมรอผลพิจารณาผู้เชี่ยวชาญควรฉีดเข็มกระตุ้นระยะห่าง 6 เดือนหรือ 1 ปี คาดทราบผลเร็วๆนี้ 

 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงข้อเสนอมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา และเตรียมเสนอที่ประชุม ศบค. วันนี้(23 ก.ย.) ว่า  

จากมติคณะกรรมการโรคติดต่อ มีมติให้โควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565  เนื่องจากข้อมูลวิชาการทั่วโลกบ่งชี้ว่าขณะนี้เป็นช่วงท้ายของการระบาด หมายความว่าโรคไม่ได้มีความรุนแรงอีกต่อไป อีกทั้งระบบสาธารณสุขสามารถดูแลได้วัคซีนมีเพียงพอ ยามีเพียงพอ โรคโควิดไม่ได้เป็นปัญหากับระบบสาธารณสุขที่ต้องใช้สรรพกำลังเข้าไปดู แค่เฝ้าระวัง เพราะโรคอาจจะขึ้นหรือลงอีกก็ได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรคไม่ได้เป็นปัญหาอีก ซึ่งขณะนี้ระบบสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยสองระบบ คือผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยผู้ป่วยนอกเมื่อมาตรวจจะได้รับยากลับไปดูแลที่บ้านหลังเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และหากมีอาการมาก แพทย์จะพิจารณารับเป็นผู้ป่วยในต่อไป ส่วนหมอและพยาบาลที่ดูแลคนไข้จะลดระดับการสวมใส่ชุด PPE  ตามความเหมาะสม โดยจะเสนอ ศบค.รับทราบการดำเนินการเหล่านี้ 

 

" เมื่อช่วงแรกที่ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย ทางศบค.ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หลังจากตุลาคม เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว จะต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกหรือไม่ก็แล้วแต่ศบค.พิจารณา เพราะยังมีความจำเป็นในการดูแลด้านอื่นๆอย่างด้านสังคม จำเป็นต้องมีการดำเนินการอยู่ระยะหนึ่ง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ ศบค.พิจารณา แต่ของสาธารณสุขถือว่าอยู่ในระดับปกติแล้ว" ปลัด สธ.กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการปรับแผนวัคซีนปี 66 อย่างไร นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ได้มอบให้กรมควบคุมโรคทบทวนแผนการฉีดวัคซีนปี 2566  เนื่องจากขณะนี้มีคนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั้งเข็ม 3 และเข็ม 5 แล้ว และมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก  ทำให้ต้องมีการศึกษาผลการฉีดไปแล้ว กับการติดเชื้อว่าควรมีระยะห่างที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร เพราะที่ผ่านมาเป็นช่วงของการระบาดรุนแรงถึงปานกลาง ทำให้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต้องมีระยะห่างทุก 4 เดือน แต่เมื่อการระบาดอยู่ช่วงท้ายก็อาจต้องพิจารณาระยะห่าง 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งต้องให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณา  เพื่อนำมาวางแผนการจัดซื้อวัคซีนต่อไป  ส่วนปี 65 นี้จะพิจารณาว่า ถ้าวัคซีนมากเกินไป คือ มีคนฉีดเยอะแล้ว อาจปรับเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB เพิ่มสำหรับกลุ่มเสี่ยง