สปสช.ประชุมผู้แทน รพ.เอกชน 9 แห่ง เตรียมพร้อมรองรับบอกเลิกสัญญาหน่วยบริการบัตรทอง 1 ต.ค.นี้ เพื่อลดความเดือดร้อน ดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการรักษา ขอความร่วมมือ รพ.เอกชน 9 แห่ง ให้บริการรักษาผู้ป่วยต่อเนื่อง 3 เดือน ในช่วงเปลี่ยนผ่านจนถึง 31 ธ.ค. นี้       

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ - เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการโรงพยาบาลรับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 9 แห่ง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ รพ.มเหสักข์ รพ.บางนา 1 รพ.ประชาพัฒน์ รพ.นวมินทร์ รพ.เพชรเวช รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2 รพ.แพทย์ปัญญา รพ.บางมด และ รพ.กล้วยน้ำไท มาร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการบอกเลิกสัญญาหน่วยบริการที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานการประชุมฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือร่วมกับ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง ที่เตรียมบอกเลิกสัญญาหน่วยบริการ เพื่อร่วมดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” เบื้องต้น สปสช. ได้ขอความร่วมมือใน 3 ประเด็น คือ 

1. การบริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยขอให้ดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับบริการในช่วง 3 เดือนก่อน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ที่สิ้นสุดสัญญาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายของ สปสช. ที่จะดำเนินการได้ และการจัดเตรียมเวชระเบียน ประวัติการรักษาของผู้ป่วยเพื่อใช้ในการส่งต่อการรักษาต่อการรักษาต่อเนื่อง 2. ขอสนับสนุนจุดที่ตั้งประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นจุดชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนที่มารับบริการรับทราบ และ 3. ประชาสัมพันธ์และสื่อสารทำความเข้าใจแนะนำการรับบริการของประชาชน

“ในการประชุมหารือในวันนี้ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง ต่างให้ความร่วมมือด้วยดี ในการดูแลผู้ป่วยบัตรทองให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ช่วยลดผลกระทบและความเดือนร้อน โดยในช่วง 3 เดือนนี้ สปสช. จะเร่งสื่อสารกับประชาชนโดยเร็วที่สุด พร้อบกับจัดหาหน่วยบริการและบริการใหม่เพื่อรองรับและดูแลให้กับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงที่สุด ที่ผ่านมา สปสช. ได้ประสานไปยังกรุงทพมหานครแล้ว เพื่อขอความร่วมมือหน่วยบริการภายใต้สังกัดมาร่วมดูแล ซึ่งการได้รับการตอบรับจากผู้ว่าฯ กทม. ด้วยดี” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
    
ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สปสช. เขต 13 กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความกังวลต่อผลกระทบเฉียบพลันที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการรองรับเพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด จึงได้เชิญผู้แทน รพ.เอกชนที่บอกเลิกสัญญามาร่วมประชุมวันนี้ เบื้องต้น สปสช. ขอให้ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยบัตรทองต่อเนื่องไปก่อน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยแยกกลุ่มผู้ป่วย ดังนี้  

1. กลุ่มผู้ป่วยในที่เข้าแอทมิด (Admitted) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ขอให้ รพ.รับรักษาผู้ป่วยจนสิ้นสุดการรักษา โดยเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการกรณีผู้ป่วยในจาก สปสช. ได้ 

2. ผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องรักษาเร่งด่วน หรือมีนัดการรักษา เช่น ผู้ป่วยมีนัดผ่าตัด หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่มีนัดรังสีรักษา เคมีบำบัด ผู้ป่วยนัดตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจซีที สแกน (CT Scan) ตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นต้น ขอให้ รพ. บริการรักษาตามที่นัดหมายผู้ป่วยไว้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 รวมถึงผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อไปรักษาที่ รพ.อื่น รักษาเหมือนเดิมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และระหว่างนี้ให้จัดทำเวชระเบียนและประวัติการรักษาเตรียมให้กับผู้ป่วย เพื่อใช้รักษาต่อเนื่องที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองที่มีศักยภาพต่อไป

3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่อง ขอให้ผู้ป่วยไปตามนัดก่อน หลังจากนั้นขอความร่วมมือทาง รพ.จัดเตรียมประวัติการรักษาให้กับผู้ป่วย พร้อมแนะนำการไปรักษาต่อ โดยกรณีผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ แนะนำให้เข้ารับบริการที่คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม และศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านที่ไหนก็ได้

4. กรณีผู้ป่วยวัณโรค และเอชไอวี/เอดส์ (HIV/AIDS) ขอให้ผู้ป่วยไปตามนัดก่อน หลังจากนั้นขอความร่วมมือทาง รพ.ให้เตรียมประวัติการรักษาให้กับผู้ป่วย พร้อมให้คำแนะนำไปรักษาต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยวัณโรคให้ไปรักษาต่อเนื่องที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง ส่วนผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ ให้ไปรับบริการต่อเนื่องได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 แห่ง รพ.รัฐทุกแห่ง และ สปสช.เตรียมประสาน ศูนย์การแพทย์บางรัก (คลินิกบางรัก) สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) พริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก โดย สปสช.จะจัดทำรายชื่อหน่วยบริการให้ อย่างไรก็ตามกรณีที่ยังไม่สามารถหาหน่วยบริการรรองรับได้ ขอให้ รพ.ประสานแจ้งสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อลงทะเบียนดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องถึงวันนี้ 31 ธันวาคม 2565

ทพ.วิรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีนัดรับการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดตาต้อกระจก ผ่าตัดเข่า ผ่าตัดด้านสูตินรี และผ่าตัดอื่นๆ ที่แพทย์วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ให้ส่งข้อมูลผู้ป่วยให้กับ สปสช. ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เพื่อที่ สปสช.จะได้ประสานจัดหาหน่วยบริการรักษา พร้อมขอให้แจ้งผู้ป่วยล่วงหน้าหรือแนะนำการไปรับการรักษาต่อ ทั้งนี้รวมถึงผู้ป่วยรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีรักษาที่ยังไม่สิ้นสุดการรักษาภายใน 31 ธันวาคม 2565 ขอให้ส่งข้อมูลผู้ป่วยมายัง สปสช. ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เช่นกัน เพื่อให้จะได้ดำเนินการหาหน่วยบริการรองรับในการรักษาต่อเนื่อง  

สำหรับผู้ป่วยนัดฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม นัดผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจใส่บอลลูน สวนหัวใจใส่สเต็นท์ ยังคงใช้บริการได้เหมือนเดิม เนื่องจากไม่ได้ยกเลิกสัญญาการบริการดังกล่าว 

“ขั้นตอนหลังจากนี้ สปสช. จะทำหนังสือแจ้งไปยัง รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง ในการขอความร่วมมือให้บริการรักษาผู้มีสิทธิบัตรทองที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และให้ รพ. แจ้งตอบกลับมา โดยรับค่าบริการในรูปแบบการจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 ได้” ผอ.สปสช. เขต 13 กทม. กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

1. สายด่วน สปสช. 1330 
2. ช่องทางออนไลน์ 

• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand