คืบหน้าภายหลังคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ เห็นชอบร่างกฎกระทรวงตรวจสุขภาพแรงงานนอกระบบ เตรียมส่งคกก.กฤษฎีกาพิจารณา ใช้เวลาราว 1 ปี ชี้รายละเอียดตรวจสุขภาพ 3 กรณี ทั้ง "ตั้งแต่แรกเข้า - ระหว่างทำงาน -เกิดเหตุฉุกเฉิน" หวังครอบคลุมแรงงานนอกระบบที่ไร้กฎหมายดูแล เร่งหารือ สปสช.ใช้งบส่งเสริมสุขภาพในการเบิกจ่าย พร้อมพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ควรตรวจอะไรบ้าง
เมื่อวันที่ 16 กันยายน พญ.หรรษา รักษาคม ผอ.กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเห็นชอบร่างกฎกระทรวง เรื่อง การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ (ม.27) ว่า หลังจากคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมเห็นชอบแล้วนั้น จะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป ซึ่งตรงนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้ได้รับการดูแลในเรื่องของการตรวจสุขภาพ 3 กรณี คือ 1.ตรวจสุขภาพแรกเข้าทำงานภายใน 30 วันและตรวจสุขภาพเป็นระยะ 2.ตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงานหลังเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย และ 3.การตรวจสุขภาพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยไว้จะก่อหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต
ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้นิยามจะเป็นกลุ่มที่อยู่นอกเหนือกฎหมายคุ้มครองดูแล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่มีนายจ้าง เนื่องจากกลุ่มที่มีนายจ้างหรือผู้จ้างงานก็จะมีกฎหมายสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแล อย่างกลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้าน ลูกจ้างทำงานตามบ้าน ขณะที่แรงงานนอกระบบของประกันสังคมมาตรา 40 ก็มีการดูแลสวัสดิการแต่เป็นลักษณะสมัครใจ และต้องจ่ายเงินสมทบเป็นไปตามเงื่อนตามเกณฑ์การจ่าย จึงยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ดังนั้น กลุ่มที่ยังไม่ครอบคลุมเหล่านี้ก็จะได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบคือ การตรวจสุขภาพก่อนเข้างานต่างๆ ที่ในระบบมี ทำให้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น
"เรื่องนี้ยังต้องขับเคลื่อนต่อในเรื่องของกลไกการเงินหรือการเบิกจ่าย ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้กรมควบคุมโรคและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปหารือเพิ่มเติมว่าใครจะเป็นคนจ่ายค่าบริการ ซึ่ง สปสช.จะมีงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มีช่องให้อยู่ก็พยายามทำทางเดินให้ชัด ว่าจะต้องมีรายการตรวจสุขภาพหรือชุดสิทธิประโยชน์อะไร ซึ่งก็จะหารือระหว่างที่กฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกา เพื่อเชื่อมต่อระบบให้ชัดเจน" พญ.หรรษากล่าว
เมื่อถามว่าแรงงานนอกระบบมีหลากหลายอาชีพ เช่น แม่ค้า เกษตรกร ทำให้มีความเสี่ยงในการทำงานต่างกัน ต้องกำหนดรายการตรวจสุขภาพให้ชัดเจนหรือไม่ พญ.หรรษากล่าวว่า รายการตรวจตามปัจจัยเสี่ยงนั้น กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ เพราะจะเยอะ และขึ้นกับความเสี่ยงเชิงบุคคลและลักษณะงานด้วย ดังนั้น จึงให้ร่างกฎหมายแบับนี้ไปผูกไว้กับหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งการขึ้นทะเบียนหมายความว่า หน่วยนั้นจะต้องมีมาตรฐานการจัดบริการอาชีวอนามัยเกิดขึ้น เวลาแรงงานนอกระบบจะไปตรวจสุขภาพก้ต้องไปตรวจสุขภาพกับ รพ.ที่มีงานด้านอาชีวเวชกรรมหรืออาชีวอนามัย ตรงนี้จะบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการประเมิน ทำให้การตรวจสุขภาพตรงตามแนวทางที่มีการประเมินความเสี่ยงด้วยหน่วยบริการที่มีมาตรฐานด้านอาชีวเวชกรรม และเรามีคู่มือแนวทางให้หน่วยบริการเหมือนคู่มือกลางตามกลุ่มอาชีพไป แต่หน้างานต้องประเมินดูบุคคล กลุ่มอาชีพตามความรู้ที่มีที่เราทำไว้ ก็จะเดินต่อไปได้
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 324 views