เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขรอถ่ายโอนท้องถิ่น ขอ สธ.ดูแลช่วงเปลี่ยนผ่านไปท้องถิ่นระยะแรก เพื่อให้การบริการไร้รอยต่ออย่างแท้จริง หลังพบข้อมูลราว 10 จังหวัดอาจสื่อสารคลาดเคลื่อนกรณีงบประมาณสนับสนุน เหตุบางแห่งให้ไปเอางบจาก อบจ.แทน ทั้งที่ยังไม่ได้ย้าย ขณะที่ รองสสจ.สกลนคร รับเรื่องพร้อมสื่อสารให้เข้าใจแล้ว ส่วน สปสช. ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องแจ้งว่า ให้โอนงบปี 66 ไปให้หน่วยบริการใด พร้อมดำเนินการทันที
เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายศักดิ์สิทธิ์ คำเกาะ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเจ้าพนักงานสาธารณสุข 11 สายงาน ให้สัมภาษณ์ Hfocus ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อมการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ซึ่งมีประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลมาประมาณ 10 จังหวัดทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ฯลฯ อย่าง รพ.สต. ในจ.สกลนคร ที่จะมีการถ่ายโอนไปยังท้องถิ่นนั้น มีบางแห่งพบปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องการสื่อสารเกี่ยวกับการดำเนินงานคลินิกทันตกรรมประจำ รพ.สต.
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า ได้รับข้อมูลว่า กรณีคลินิกทันตกรรมใน รพ.สต.ที่มีการทำเรื่องขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายการบำรุงเครื่องมือทันตกรรมต่างๆ อย่างตู้นึ่งฆ่าเชื้อเครื่องมือต่างๆ เดิมทางรพ.สต.จะทำเรื่องขอทางรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นเครือข่ายระบบสุขภาพร่วมกัน ที่เรียกว่า CUP แต่มีการสื่อสารว่า ต้องไปทำเรื่องเบิกกับทางอบจ.แทน แต่ด้วยการดำเนินการที่ผ่านมา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในอดีตที่ยังอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ได้โอนย้าย ก็ควรต้องสนับสนุนให้หรือไม่ ทำให้ไม่ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร และหากไม่ได้รับงบประมาณมาก็กังวลว่า จะส่งผลต่อการบริการประชาชน ซึ่งตนเป็นหนึ่งในกลุ่มที่จะถ่ายโอน และเป็นห่วงเรื่องนี้
"ล่าสุดได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร โดยมีรองนายแพทย์สาธารณสุขรับทราบเรื่องนี้แล้ว และท่านสื่อสารว่า ให้เขียนปัญหาส่งมาที่สสจ. และจะนำเข้าสู่การประชุมร่วมกับผู้บริหารในระดับจังหวัด เบื้องต้นน่าจะมาจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากภาพรวมช่วงเปลี่ยนผ่าน ทางกระทรวงสาธารณสุขจะยังดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้ดำเนินการให้บริการประชาชนอย่างไร้รอยต่อ" เจ้าพนักงานทันตสาะารณสุขฯ กล่าว
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า เครื่องมือทันตกรรม ปกติ รพ.จะเป็นผู้ดูแลให้ ในการตั้งงบประมาณในการเบิก ก็จะเอางบรายหัวที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โอนมาให้ก็จะแบ่งสัดส่วนมาบำรุงค่ารักษาอุปกรณ์ให้ทาง รพ.สต. แต่เมื่อมีการสื่อสารลักษณะนี้ออกมา ทำให้กังวลกันว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร
นายศักดิ์สิทธิ์ คำเกาะ
นายศักดิ์สิทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปกติคลินิกทันตกรรมใน รพ.สต. จะมีเครื่องนึ่งฆ่าเชื้อเครื่องมือทันตกรรมต่างๆ แต่จะเป็นในระดับเบื้องต้น ไม่ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตู้นึ่งฆ่าเชื้อก็จะทำได้ประมาณ 20-30 ลิตร อย่าง รพ.สต.ขนาดใหญ่ดูแลประชาชนจำนวนมาก มีการใช้เครื่องมือเยอะก็ไม่เพียงพอ จึงต้องขอสนับสนุน อย่างไรก็ตาม คนที่ทำงานตรงนี้ และจะถ่ายโอนไปต่างก็เห็นว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นช่วงที่ต้องวางระบบให้ดี และต้องเท่าเทียมกันทุกแห่ง เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขหรือทันตาภิบาล มีประมาณ 7,000 คนทั่วประเทศทำงานในรพ.สต.เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการให้บริการทันตกรรมเบื้องต้นนั้น ต้องทำภายใต้ทันตแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะเราไม่ได้เป็นวิชาชีพ แม้เราพยายามขับเคลื่อนมาตลอดก็ตาม ซึ่งหากถ่ายโอนไปท้องถิ่นแล้ว ระหว่างเปลี่ยนผ่านช่วงแรกๆ กระทรวงสาธารณสุขยังต้องดำเนินการต่อให้เราทำงานภายใต้ทันตแพทย์ของกระทรวงฯ ก่อนที่ อบจ.จะรับช่วงต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว สปสช. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จ่ายเงินให้หน่วยบริการตามกฎหมาย ซึ่งสามารถให้แก่ทางกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยบริการโดยตรง หรือท้องถิ่นได้ ซึ่งงบประมาณปี 2565 นั้นได้โอนไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนงบประจำปี 2566 ขอให้แจ้งมาทาง สปสช. ว่าให้ดำเนินการอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามกรณี สปสช.สามารถจัดสรรงบประมาณไปยัง รพ.สต.ที่ถ่ายโอนโดยตรง หรือให้ทางอบจ.ได้ใช่หรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ได้หมด อยู่ที่ว่ามีการแจ้งมาอย่างไร เข้าใจว่าขณะนี้กำลังหารือประเด็นนี้อยู่
เมื่อถามว่าขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากเครือข่าย CUP ไหนไม่โอนงบให้ รพ.สต.ในการบริการประชาชน ทาง สปสช.จะไม่โอนเงินให้ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ไม่เคยพูดเช่นนั้น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1495 views